คงทราบกันดีแล้วว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ประชุมได้อนุมัติและเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับกลุ่มกิจการร่วมค้าเครือเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งฯ หรือ CPH และพันธมิตรในวงเงิน 149,650 ล้านบาท
โดยมีรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องอีกหลายๆประเด็น ที่ผมขออนุญาตไม่นำมาลงในคอลัมน์นี้ ท่านที่สนใจสามารถค้นหาอ่านข่าวได้จากหนังสือพิมพ์และข่าวออนไลน์ต่างๆที่ลงกันไว้อย่างละเอียดแล้ว
ผมไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และได้แสดงเหตุผลคัดค้านไว้ตั้งแต่ต้นว่าเป็นโครงการที่เสี่ยงมาก และอาจจะนำไปสู่การสูญเปล่าของการลงทุนก้อนมหึมาจากเงินงบประมาณที่จะไปสนับสนุนโครงการนี้ในที่สุด
แต่เมื่อทุกฝ่ายเห็นว่าโครงการนี้จำเป็นต้องเกิด เพราะเป็นโครงการแรกของ EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ผมก็คงทำอะไรไม่ได้ นอกเสียจากจะยอมถอยและหันมาฝากความห่วงใยเอาไว้ก่อนที่จะเลิกเขียนถึงเรื่องนี้
ความจริงผมก็เขียนอย่างทีเล่นทีจริงไปแล้ว โดยฝากให้ CPH ซึ่งต่อไปนี้ผมจะขออนุญาตเรียกอย่างสั้นๆง่ายๆ เพื่อความเข้าใจของชาวบ้านว่าเครือ ซี.พี. ขอให้ช่วยดูแลโครงการนี้ให้ดีที่สุด
เพราะท่านเองก็จะต้องเอาเงินมหาศาลมาร่วมทุนด้วยเช่นกัน หากไม่ดูแลให้ดีที่สุด เครือ ซี.พี.ก็จะเป็นฝ่ายสูญเสียด้วยเช่นกัน
เผอิญว่าในช่วงที่ผมเขียนครั้งที่แล้วก่อนหน้าโครงการนี้ จะผ่านคำว่า ครม. “เสียค่าโง่” หรือการที่ฝ่ายรัฐถูกภาคเอกชนที่มาร่วมทุนฟ้อง เรียกค่าเสียหายกำลังฮิตในหน้าหนังสือพิมพ์
ผมก็เอาคำว่า “เสียค่าโง่” มาฝากเครือ ซี.พี.ไว้ว่าถ้าโครงการนี้ล้มเหลวในอนาคต และมีอะไรผิดพลาดจากฝ่ายข้าราชการเกิดขึ้น ขอความกรุณา ซี.พี.อย่าได้ฟ้องเรียกค่าโง่เลย
...
ที่จะเขียนอีกครั้งในวันนี้ก็เพราะเห็นว่าเรื่องผ่าน ครม.เรียบร้อย เหลือเพียงการลงนามในสัญญาต่างๆเท่านั้น คงเป็นโอกาสที่ดีที่จะฝากความในใจและสิ่งที่ผมห่วงใยให้แก่เครือ ซี.พี.เป็นครั้งท้ายสุด
ประกอบกับผมได้อ่านจากเฟซบุ๊กของ สำนักข่าวอิศรา เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เองว่า ในการประชุมสัมมนาผู้บริหารระดับสูงของ ซี.พี. คุณ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารของ ซี.พี. ได้ขึ้นบรรยายและกล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้
“โครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงและได้ผลตอบแทนในอัตราที่ไม่สูง แต่เหตุผลสำคัญที่เครือสนใจจะเข้าไปลงทุน เนื่องจากเป็นโครงการพัฒนาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชนและสังคมที่เครือยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ”
“ถึงแม้จะยากและมีความเสี่ยงสูง แต่เครือ ซี.พี.จะใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ รวมทั้งจะดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาช่วยกันทำให้สำเร็จ เพราะโครงการนี้ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานแรกของเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และสามารถส่งเสริมประเทศเพื่อนบ้านในแถบ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ให้เติบโตไปพร้อมๆกัน”
ผมขอขอบคุณ คุณศุภชัยไว้ ณ ที่นี้ ที่ได้กล่าวประโยคนี้ขึ้น ทำให้ความเคลือบแคลงของผมคลี่คลายลงไปเป็นอันมาก...โดยเฉพาะความรู้สึกที่เคยระแวงสงสัยว่า ซี.พี.ก็คงเหมือนกับบริษัทเอกชนจำนวนมากในโลกนี้ ที่มุ่งหวังในผลกำไรมากกว่าอื่นใด
แต่พอได้ยินคำว่า “พัฒนา” คำว่า “ประโยชน์ต่อประเทศชาติและ ประชาชน” รวมไปถึงการที่จะเป็น “แกนกลางของอาเซียน” ในฐานะคนแก่ที่เคยทำงานด้านการพัฒนาประเทศมากว่า 30 ปี ก็เกิดความรู้สึกขึ้นว่า คนคนนี้เป็นพวกเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน
คงไม่ใช่นักธุรกิจที่คิดจะกอบโกยสถานเดียวเหมือนนักธุรกิจอื่นๆ
จึงขออนุญาตที่จะฝากโครงการนี้ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 224,500 ล้านบาท ซึ่งอีกส่วนหนึ่งคุณและพันธมิตรจะร่วมลงทุนกับรัฐเอาไว้ด้วย
คราวนี้ผมจะไม่พูดแบบทีเล่นทีจริงแบบทุกๆครั้งที่เคยเขียนมาอีกแล้ว...มีแต่ทีจริงอย่างเดียว ว่าอย่าลืมคำพูดข้างต้นเสียนะครับคุณศุภชัย
นี่คือโครงการเพื่อการพัฒนาประเทศ โครงการที่ทั้งบริษัทคุณและการรถไฟของผม (เพราะใช้เงินภาษีพวกผม) มีความเสี่ยงร่วมกัน
ขอให้ทำให้ดีที่สุด ทุ่มเทที่สุดอย่างที่คุณให้คำมั่นสัญญาไว้
ผมขออวยพร (จากใจจริง) ขอให้โครงการนี้ จงประสบความสำเร็จ.
"ซูม"