เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ผมนั่งรอลุ้นว่า กิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งเรียกกันย่อๆว่า กลุ่มซีพีจะให้คำตอบแก่คณะกรรมการคัดเลือกบริษัทเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา...ว่าอย่างไร?
พูดภาษาชาวบ้านก็คือจะ “เข้าร่วม” หรือ “ไม่เข้าร่วม” โครงการนี้?
เหตุเพราะ ซีพีกับพันธมิตรที่เสนอเงื่อนไขขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำสุดเป็นผู้ชนะ ผู้เข้าแข่งขันรายอื่นๆ คณะกรรมการจึงเรียกมาคุยเพื่อตกลงในรายละเอียด และทำสัญญาร่วมลงทุนกันต่อไป
แต่ซีพีกลับเสนอเงื่อนไขใหม่เพิ่มถึง 12 ข้อ ซึ่งคณะกรรมการไม่สามารถรับได้ และทำหนังสือให้ซีพีตอบภายใน 5 มีนาคมว่าจะรับงานนี้หรือไม่? ถ้าไม่คณะกรรมการจะได้หันไปเจรจากับรายอื่นๆ
ผลปรากฏว่า เมื่อถึงเส้นตายซีพีกลับไม่ได้มาตามนัด แต่มีหนังสือแจ้งไปถึงคณะกรรมการอ้างเหตุผลถึง 6 หน้ากระดาษ ขอนัดเจรจาอีกครั้งในช่วงบ่ายๆวันที่ 13 มีนาคม
เรื่องจะลงเอยอย่างไร? โปรดรออีกหนึ่งอึดใจนะครับ
สำหรับผมเองค่อนข้างดีใจที่การเจรจายืดเยื้อและอาจจะดีใจเพิ่มขึ้นอีก หากซีพีจะถอนตัวในที่สุด
รวมทั้งจะดีใจเป็นอย่างยิ่ง หากผู้ประมูลรายที่ยื่นเสนอมาได้คะแนนรองลงไปคือกลุ่ม บริษัทบีเอสอาร์ จะไม่เข้ามาเจรจา จนในที่สุดต้องยกเลิกโครงการนี้ไปทั้งโครงการ
อย่าหาว่าผมเป็นโรคชอบคัดค้านโครงการใหญ่หรืออภิมหาโปรเจกต์เลยครับ เพราะทุกโครงการที่ผมค้านจะมีรากฐานมาจากความห่วงใยและความไม่มั่นใจว่าโครงการนั้นจะเกิดประโยชน์โภชน์ผลอย่างแท้จริงเท่านั้น มิใช่เพราะมีอคติเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด
รวมทั้งโครงการนี้ ซึ่งจะใช้งบลงทุนถึง 2 แสนล้านบาท โดยการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน โดยรัฐจะรับผิดชอบในการสนับสนุนไม่เกิน 119,425 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี
...
เงินรัฐหนึ่งแสนกว่าล้านบาทเนี่ย ต้องถือว่ามากพอสมควรนะครับ สำหรับประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงอย่างเรา
เท่าที่ผมติดตามโครงการนี้จากข่าวหนังสือพิมพ์ หรืออ่านรายงานต่างๆที่มีผู้เขียนถึงอย่างละเอียดพอสมควร ผมค่อนข้างจะเป็นห่วงมากๆถึงการคุ้มทุนต่างๆ
นักวิเคราะห์หลายท่านฟันธงว่า โดยตัวโครงการไม่คุ้มทุนแน่ แต่ก็อาจจะคุ้มได้หากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ทั้งโครงการประสบความสำเร็จ
เป็นการเอาอนาคตของโครงการนี้ไปฝากไว้กับ EEC ซึ่งทุกวันนี้แม้จะมีข่าวว่าจะมีการลงทุนโน่นนี่เยอะไปหมด แต่ของจริงเป็นอย่างไร? การลงทุนจริงๆเกิดขึ้นมากขนาดไหน? ยังไม่ปรากฏชัด
ที่น่าห่วงมากก็คือรายได้จากผู้โดยสาร เพราะส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้โดยสารที่เป็นคนไทยในพื้นที่ต่างๆนี่เอง มิใช่นักท่องเที่ยวอย่างที่คาดหวังกันไว้ เว้นแต่โครงการ EEC จะประสบความสำเร็จทำให้มีผู้โดยสาร รถไฟมากขึ้น
โอกาสของโครงการนี้ที่พอจะทำกำไรได้บ้างก็อยู่ที่การพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีมักกะสันในเชิงพาณิชย์ ให้เป็นศูนย์การค้าหรือที่อยู่อาศัยอะไรต่างๆ...ซึ่งก็ไม่แน่อีกแหละ ทุกวันนี้กรุงเทพฯก็มีศูนย์การค้า มีที่อยู่อาศัยแทบจะล้นอยู่แล้ว
อีกที่ก็คือการพัฒนาที่สถานีศรีราชา นั่นก็เสี่ยงเช่นกัน
ผมก็เลยเดาเอาว่า เมื่อกลุ่มซีพีลงไปดูรายละเอียดลึกๆ บวกกับการมองอนาคตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในวันข้างหน้า ก็เลยเกิดดวงตาเห็นธรรมกลับมาเพิ่มเงื่อนไขยกใหญ่
รวมทั้งเงื่อนไขระยะเวลาดำเนินการจาก 50 ปี เป็น 99 ปี!
ถูกต้องแล้วครับที่คณะกรรมการไม่ยอมตามที่ซีพีเรียกร้อง เพราะนั่นก็เกินเหตุไป จะเอาแต่กำไรอย่างเดียว
ผมจึงแอบดีใจอยู่เงียบๆที่การเจรจายืดออกไปและจะดีใจมากที่สุด ดังได้กล่าวแล้ว หากจะมีการพับโครงการนี้ไปในที่สุด
ผมห่วงจริงๆครับว่าเราจะเสียเงินไป 2 แสนล้านบาท สำหรับรถไฟเชื่อม 3 สนามบินที่ว่า...บางสายก็พอโอเคอยู่หรอก แต่อย่างสายลาดกระบัง สุวรรณภูมิ ซึ่งจะเป็นรถไฟความเร็วสูงขนานแท้ และจะใช้เงินลงทุนสูงกว่าสายอื่นด้วย
จะกลายเป็นรถไฟความเร็วสูงสายเปลี่ยวขาดทุนยับเยินตลอด 50 ปีข้างหน้าเอาน่ะนา...ฝากให้คิดกันให้รอบคอบด้วยครับ!
“ซูม”