เมื่อวันศุกร์ที่แล้วผมเขียนถึง “เขื่อนน้ำงึม 2” ที่ผมเพิ่งแวะไปเยี่ยมชม จากการเชิญของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยที่ได้สัมปทานในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนนี้

ผมเปรียบเปรยเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นนี้ว่า เขื่อนน้ำงึม 2 เป็นแบตเตอรี่ลูก 1 ในจำนวนหลายๆลูกของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่กำหนดวิสัยทัศน์หลักในการพัฒนาประเทศให้ไปสู่การเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ในอนาคต

โดยตั้งเป้าหมายที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ได้ถึง 20,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563 ที่จะถึงนี้

เหตุผลที่ทำให้ สปป.ลาวมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายก็เพราะความสมบูรณ์ในทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะแหล่งนํ้าต่างๆนั่นเอง

นอกจากแม่น้ำโขงแล้ว ยังมีแม่น้ำภายในประเทศอีกหลายสาย ที่สามารถนำไปสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าได้

จากตัวเลขรวมๆเท่าที่ผมสอบถามจากท่านผู้รู้ พบว่า ณ ปัจจุบันนี้ ลาวมีแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้แล้วถึง 42 ลูก...อันหมายถึงมีโรงงานไฟฟ้าแล้วถึง 42 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำถึง 39 แห่ง

ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานด้วยว่า รัฐบาลลาวยังเปิดสัมปทานให้มีการก่อสร้างอีก 50 กว่าแห่ง ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จครบถ้วนในปี 2563 ตามเป้าหมายแล้ว จะเป็น 90 แห่งโดยประมาณ

กล่าวอีกนัยหนึ่งลาวจะมีแบตเตอรี่ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ไม่ต่ำกว่า 90 ลูก ร่วมกันผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เกินเป้า 20,000 เมกะวัตต์ ตามที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน

พร้อมๆกับเป้าหมายที่จะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย รัฐบาลลาวก็ได้ ตั้งเป้าหมายสำคัญในการที่พัฒนาประเทศลาวให้หลุดพ้นจากกับดักของการเป็นประเทศ “รายได้น้อย” ในปี 2563 เอาไว้ด้วย

โดยมุ่งหวังที่จะใช้พลังแบตเตอรี่ดังกล่าวเป็นพลังสำคัญในการผลักดันรายได้เฉลี่ยของลาวให้ก้าวข้ามเส้น “รายได้น้อย” ไปสู่ความเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นต้นตามคำจำกัดความของระดับการพัฒนาประเทศที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้

...

ด้วยรูปแบบการปกครองที่ยังมีการคุมเข้ม ทำให้การคัดค้านจากบรรดาองค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอในการสร้างเรื่องต่างๆแทบไม่มีเลย ในการสร้างเขื่อนพลังน้ำต่างๆ

อาจจะมีการทักท้วงหรือการแสดงความไม่เห็นด้วยจากภายนอกประเทศบ้าง แต่ที่ผ่านมาการประท้วงภายในประเทศแทบไม่เคยปรากฏ

แต่ก็มิได้หมายความว่าการไม่มีการทักท้วงจะทำให้รัฐบาลลาวละเลยการดูแลปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาข้างเคียงอื่นๆที่อาจเกิดขึ้น เพราะเท่าที่ติดตามข่าวและเท่าที่มีโอกาสไปดูมาแล้วอย่างน้อย 2 เขื่อนก็พบว่ารัฐบาลลาวถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและกำหนดเป็นเงื่อนไขหลัก สำหรับผู้ได้รับสัมปทานและจะมีการตรวจสอบอย่างจริงจังอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ในการก่อสร้างในแม่น้ำที่เป็นนานาชาติอย่างเช่น แม่น้ำโขง รัฐบาลลาวก็รับฟังการทักท้วงจากประเทศเพื่อนบ้าน และจะลงมาดูแลแก้ปัญหาจนเป็นที่น่าพอใจของทุกๆฝ่าย

โดยส่วนตัวผมขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลลาวที่มุ่งมั่นในเรื่องพลังงานไฟฟ้า และเชื่อว่าจะเป็นรายได้สำคัญของประเทศในการนำมาใช้พัฒนาประเทศ สร้างความอยู่ดีกินดีต่อประชาชนของเขาได้ในที่สุด

ซึ่งลูกค้ารายใหญ่ก็คงจะเป็นไทยนี่แหละไม่ใช่ชาติเอเชียที่ไหนหรอกครับ เพราะความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของเรายังสูงอยู่มาก และจะสูงไปเรื่อยๆโดยที่เราไม่มีหนทางที่จะผลิตด้วยตัวเองให้เพียงพออย่างแน่นอน

แต่ขณะเดียวกันก็คงต้องฝากให้ท่านที่มีความรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องน้ำในลำแม่น้ำโขง ซึ่งเราเองก็มีส่วนใช้ประโยชน์อยู่อย่างสำคัญ โปรดช่วยจับตาอย่างใกล้ชิดด้วย

ถ้าการขยายแบตเตอรี่ออกไปเรื่อยๆของลาวจะมีส่วนสร้างผลกระทบอะไรก็ตามต่อแม่น้ำโขงละก็ ต้องรีบทักท้วงหรือแจ้งให้เขาทราบโดยเร็วนะครับ ในฐานะที่เราก็มีส่วนในแม่น้ำสายนี้ด้วยเหมือนกัน...ขอฝากไว้ด้วยนะครับ!

“ซูม”