วันก่อน คุณกฤชเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกับผู้สัมปทาน ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด หลังจากที่ ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้ การทางพิเศษฯ จ่ายชดเชยความเสียหายจากการสร้างทางแข่งขันให้กับ NECL บริษัทลูกของ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นเงิน 4,138 ล้านบาท ว่าเป็นไปด้วยดี และเป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 2 ต.ค.61 ที่ให้หน่วยงานของรัฐเจรจาต่อรองกับคู่พิพาท กรณีเกิดคดีความตามสัญญาหรือถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐและให้เกิดความเป็นธรรมแก่ราษฎร

ผลการเจรจาที่ออกมามีเนื้อหาที่น่าสนใจยิ่ง

คุณสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีแนวคิดที่จะ ขยายอายุสัญญาสัมปทานให้กับ BEM ใน โครงข่ายทางด่วนขั้นที่ 2 รวมส่วน D ช่วงพระราม 9-ศรีนครินทร์ และ ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ออกไปอีก 37 ปี เพื่อลดภาระหนี้ที่เป็นข้อพิพาทกับ BEM ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 137,515.6 ล้านบาท

บีอีเอ็ม มีสัมปทานกับ การทางพิเศษฯ 3 สัญญา คือ ทางด่วนขั้นที่ 2 บางโคล่-แจ้งวัฒนะ-อโศก พระราม 9-ศรีนครินทร์ และ บางปะอิน-ปากเกร็ด ทั้ง 3 สัญญามีข้อพิพาทกับการทางพิเศษฯ เพราะรัฐบาลในอดีตไม่ยอมให้ขึ้นค่าทางด่วนตามสัญญา แต่หนักที่สุดก็คือ สายบางปะอิน-ปากเกร็ด ที่รัฐบาลขอให้บีอีเอ็มลงทุนสร้างต่อไปถึง ธรรมศาสตร์-รังสิต เพื่อรองรับการแข่งขัน กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ในปี 2541 โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐจะไม่อนุญาตให้สร้างทางด่วนไปแข่งขัน เพราะทางช่วงนี้มีรถน้อยอยู่แล้ว

พอถึงยุค คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีคมนาคมก็อนุญาตให้สร้าง ดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย จาก อนุสรณ์สถาน-รังสิต ถือเป็นการแข่งขันกับ สายบางปะอิน-ปากเกร็ด โดยตรง ทำให้มีรายได้ลดลง จึงมีการเรียกร้องให้ชดเชยตามสัญญา แต่การทางพิเศษฯไม่ยอมชดเชย จึงเกิดข้อพิพาทขึ้น อนุญาโตตุลาการตัดสินให้ NECL ชนะ แต่ การทางพิเศษฯ ไม่ยอมรับ จึงมีการฟ้องต่อ ศาลปกครอง ให้ชดเชยผลกระทบปี 2542–43 ศาลปกครองชั้นต้น และ ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินให้ BEM ชนะ ให้การทางพิเศษฯจ่ายชดเชย BEM 4,318 ล้านบาท ดังที่เป็นข่าว

...

ค่าชดเชย 4,318 ล้านบาท เป็นค่าชดเชยเพียง 2 ปีที่ฟ้อง คือ ปี 2542–43 ถ้า BEM ฟ้องคดีต่อจากปี 2544–2561 จะทำให้ การทางพิเศษฯต้องจ่ายชดเชยสูงถึง 137,515.6 ล้านบาท ดังที่ ผู้ว่าการการทางพิเศษฯ ให้สัมภาษณ์ นายกรัฐมนตรี จึงให้มีการต่อรองกับ BEM เพื่อลดภาระของรัฐบาลที่อาจต้องจ่ายชดเชยทั้งหมดเพราะแพ้คดี

ผลการเจรจาที่ออกมาก็เป็นไปอย่างที่ คุณกฤชเทพ รองปลัดคมนาคม แถลงคือ รัฐขยายอายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 พระราม 9– ศรีนครินทร์ และ บางปะอิน–ปากเกร็ด ให้ BEM อีก 37 ปี แลกกับเงินชดเชย 137,515.6 ล้านบาท แต่เพื่อไม่ให้รัฐบาลเสียหน้าจึงขอให้ BEM แก้ปัญหารถติดบนทางด่วนด้วย แลกกับการขยายสัญญาสัมปทาน BEM ก็เสนอทางออกให้สร้าง “ทางด่วนขั้นที่ 2” อยู่เหนือทางด่วนปัจจุบันตั้งแต่ช่วง ประชาชื่น–อโศก เป็นระยะทาง 13–14 กม. ด้วยเงินลงทุนของ BEM 31,000 ล้านบาท

ทางด่วนขั้นที่ 2 จะเป็น “ทางด่วนพิเศษ” สำหรับรถที่ต้องการวิ่งเข้าใจกลางกรุง มีทางลงไม่กี่แห่ง เพื่อช่วยระบายจราจรบนทางด่วนขั้นที่ 1 จากประชาชื่น–อโศก ทั้งขาเข้าและขาออก ใครจะวิ่งบนทางด่วนขั้นที่ 1 หรือขั้นที่ 2 ก็ได้ จ่ายค่าผ่านทางอัตราเดียว 50 บาท

จากคำพิพากษาของ ศาลปกครองสูงสุด จนถึงการเจรจาต่อรองระหว่าง การทางพิเศษฯ กับ BEM จนสรุปออกมาเป็นแนวทางที่ win win win ทุกฝ่าย คือ รัฐบาลไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย 137,515.6 ล้านบาท แถมได้ทางด่วนใหม่ขั้นที่ 2 เพิ่ม และ BEM ได้รับการชดเชยด้วยการขยายสัมปทาน 37 ปี ที่สำคัญ ประชาชนผู้ใช้ทางด่วนได้ทางเลือกใหม่ เป็นดีลที่ผมคิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด ไม่คิดว่าภาครัฐจะคิดทางออกได้ดีขนาดนี้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”