ต้นมักกะลีผลในป่าหิมพานต์ ออกผล รูปร่างเหมือนคนผู้หญิง จึงมีอีกชื่อ “นารีผล” มีคนหิมพานต์ พวกนักสิทธิ์ วิทยาธร ไปรุมแย่งกันโคนต้น
ผมอ่านเรื่องนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จินตนาการตอนนั้น ได้นารีผลแล้วเอาไปใช้อะไร จะใช้การได้สักกี่วัน
โตขึ้นอ่านหนังสือมากขึ้น ก็รู้เพิ่มว่า คำ นักสิทธิ์ แปลว่าผู้สำเร็จ วิทยาธร แปลว่าผู้มีวิชา รวมความ เป็นคนที่วิเศษกว่าคนธรรมดา เหาะเหิน เดินอากาศได้ สื่อสารรู้เรื่องทั้งเทวดา นางฟ้า และมนุษย์
โลกมนุษย์ทุกวันนี้ ตั้งแต่มีอินเตอร์เน็ต มีสมาร์ทโฟนใช้ ภาษาที่เคยพูดกันจากปาก เปลี่ยนเป็นภาษาจากนิ้วมือที่ไล่เลียงบนจอมือถือ นี่คือ การสื่อสารสากล คนไม่ใช้สมาร์ทโฟน กลายเป็นคนตกหล่น คนนอกสังคม
คนข้างตัวผม พูดธุระทางโทรศัพท์ “ส่งมาทางอีเมล” ผมฟังแล้วก็ยังงง ทำไมไม่พูดจากันให้รู้เรื่องราวกันไปเลย
ดูจากทีวีช่องไทยพีบีเอส...รายการไหนจำไม่ได้แล้ว เขาบอกว่า เด็กรุ่นใหม่คุ้นเคยกับการสื่อสารทางมือถือ รวดเร็ว ฉับไว ทันใจ แต่ผลอีกด้าน คือพวกเธอขาดความคิดแบบปะติดปะต่อ
มีผลให้เด็กๆหลายคนที่เก่งในโลกโซเชียลฯ คิดไม่เป็น จินตนาการไม่เป็น และเขียนหนังสือไม่เป็น
ทางแก้ก็คือ จะต้องหาวิธีให้เด็กๆใช้เวลาอ่านหนังสือ อย่างน้อยให้ได้วันละหนึ่งชั่วโมง
ภาษาหนังสือ เป็นภาษาจินตนาการ หาอ่านได้จากเรื่องสั้น นวนิยาย จากนักเขียนชั้นดี หรืออย่างน้อยก็จากหนังสือพิมพ์ ที่สมัยก่อนถือว่าเป็นวรรณกรรมเร่งด่วน ไม่สละสลวย แต่ก็ยังถือว่าเป็นภาษาที่ถือว่า กลั่นกรองแล้ว
นี่คือข้อแนะนำ ที่พ่อแม่ควรรับไปใช้กับลูกหลานในบ้าน หากปล่อยให้จมอยู่กับจอมือถือมากเกินไป ผมกังวลว่า เมื่อเติบโตขึ้น พวกเขาจะเป็นคนที่สื่อสารกับคนด้วยกันไม่เป็น
...
อย่าลืม...วิทยายุทธสำคัญของผู้ยิ่งใหญ่ทุกคนในโลก คือการสื่อสาร
โบราณสอนว่า ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี เก่งมากน้อยแค่ไหน ถ้าพูดไม่เป็น ก็ไปไม่ถึงฝัน
ข้อมูลใหม่ ผมได้จาก หนังสือฉลาดซื้อ ฉบับเดือนตุลาคม 2561 รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่าเคยพบเด็ก 9 เดือน ถูกเลี้ยงด้วยสมาร์ทโฟน
พ่อแม่เปิดการ์ตูนในยูทูบให้ดู ตั้งค่าเอาไว้เลย 4–5 เรื่อง เด็กก็สามารถใช้ได้เอง อยากดูเรื่องไหนก็เอามือจิ้มๆเข้าไป รู้จักการไถมือ เด็กสนใจมาก มองตาม ฟัง อยู่นิ่งๆได้นาน จนอายุ 10–12 เดือน ก็ติดมือถือ
ยังมีเด็ก 3-4 คน พ่อแม่พามาหาหมอที่คลินิก เด็กพูดภาษาอังกฤษเก่งมาก สำเนียงชัด แสดงว่าการดูยูทูบมีประโยชน์เหมือนกัน ทั้งๆที่พ่อแม่เด็กพูดอังกฤษไม่ได้
แต่ผลด้านที่กลับกัน เมื่อถึงวัยเด็กเข้าโรงเรียน เด็กไม่ยอมเล่นกับเพื่อน ไม่คุย แยกตัวอยู่คนเดียว
รศ.นพ.อดิศักดิ์บอกว่า เราจะสังเกตว่าการสื่อสารของมนุษย์ มีภาษาพูด จะมองตา มองปาก ขณะคุยกันจะสื่อสารความรู้สึกไป
เด็กเล็กช่วงที่สมองมีการพัฒนา ถ้าเล่นแต่มือถือ เรียนรู้การสื่อสารผ่านมือถือ เป็นการสื่อสารทางเดียว อยู่กับเรื่องการเรียนภาษาสำเนียง โดยไม่มีอารมณ์ ความรู้สึก จนก่อพฤติกรรมการแยกตัว
เขานึกไม่ออกหรอกว่า การสื่อสารกับมนุษย์จริงๆเป็นแบบไหน
เมื่อโตขึ้นมา จะแก้ให้เขารู้จักการสื่อสารด้วยความรู้สึก ความรัก ความเกลียดชัง มันสร้างได้ยาก
ถามว่าจะแก้ได้ไหม บอกเลยว่าแก้ยาก จะเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพจิตต่อไปในอนาคต
ผมอ่านเรื่องของหมออดิศักดิ์แล้ว กำลังนึกว่าจะใช้คำเรียกเด็กๆ ที่เติบโตมากับมือถือ...เหล่านี้ อย่างไรดี บางคำที่เคยใช้ดูจะรุนแรงเกินไป จึงขอยืมคำ “คนบนหิมพานต์” มาใช้ไปก่อน
บ้านเมืองเรา เป็นห่วงกันแต่เรื่องสังคมคนแก่ แต่ยังไม่มีเค้าเตรียมตัวเตรียมใจรับสังคมคนบนหิมพานต์
ถ้าเด็กคิดไม่เป็นเขียนไม่เป็น ยังพอรับไหว แต่ถึงขั้นพูดจากับใครไม่รู้เรื่อง ก็น่าเป็นห่วงแทนพ่อแม่เสียจริงๆ.
กิเลน ประลองเชิง