วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมขออนุญาตร่วมปรับทุกข์ให้กับคนที่ใช้บริการสนามบินดอนเมืองสักหน่อย ใครจะไปขึ้นเครื่องบินที่ดอนเมือง ถ้าไปต่างประเทศต้องเผื่อเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง หากเดินทางในประเทศเผื่อเวลา 2 ชั่วโมง เพราะต้องลุยฟันฝ่าสภาพรถติดหนึบหน้าสนามบิน เสร็จแล้วยังต้องไปเจอกับความแออัดจอแจภายในอาคารผู้โดยสารและที่เคาน์เตอร์เช็กอิน
ด้วยข้อจำกัดด้านสภาพพื้นที่ ถนนทางเข้าอาคารผู้โดยสารถูกบีบเป็นคอขวดเหลือ 2 เลน (ไม่เหมือนสนามบินสุวรรณภูมิที่เป็นทาง 5-6 เลน) ทำให้รถติดสาหัสสากรรจ์ โดยเฉพาะในช่วงเย็นเวลาเร่งด่วน หากไม่เผื่อเวลาก็กลัวตกเครื่อง แต่ครั้นไปล่วงหน้ากันเยอะ ก็เท่ากับไปแออัดกันในสนามบินมากขึ้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะไปโทษ ผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซะทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าการท่องเที่ยวไทยจะบูมเกินคาดมากขนาดนี้ ขณะเดียวกันคนไทยก็เดินทางด้วยเครื่องบินภายในประเทศมากขึ้น สายการบินโลว์คอสต์ได้เข้ามาแทนที่การคมนาคมภาคพื้นมากขึ้นเรื่อยๆ
หลังจาก คสช.ยึดอำนาจ บริหารประเทศจนการเมืองสงบ ไม่มีกีฬาสี ตามด้วยไอเคโอปลดธงแดง การท่องเที่ยวไทยก็บูมอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมช่วงปี 58 ยอดผู้โดยสารที่ใช้สนามบินพุ่งขึ้นไปถึง 116 ล้านคน แต่ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท. (สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงใหม่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ ภูเก็ต หาดใหญ่) อยู่ที่ 83.5 ล้านคนเท่านั้น
ผู้บริหาร ทอท.จึงตัดสินใจทำแผนระยะยาว 10 ปี เพิ่มความจุให้เต็มศักยภาพของทุกสนามบิน เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 184 ล้านคน ในอนาคตจะได้ไม่ต้องมาตามแก้ปัญหากันอีก
ต้องถือว่าเป็นการคิดที่มีวิสัยทัศน์ แต่แล้วก็เกิดความผิดพลาดขึ้นจนได้ เพราะจำนวนผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ยอดปัจจุบันไปถึง 130 ล้านคนแล้ว ขณะที่ความสามารถของสนามบินรองรับได้แค่ 101 ล้านคนเท่านั้น ยังไม่รู้ว่าพอทำเสร็จตามแผนระยะยาวแล้ว จำนวนผู้โดยสารจะทะลักล้นไปขนาดไหน แต่เท่าที่ประเมินตอนนี้คงไม่มีปีไหนเลยที่ความจุของสนามบินจะไล่ตามทันจำนวนผู้โดยสาร
...
หากมองในเชิงพาณิชย์ถือว่าดี มีผู้โดยสารมาใช้บริการมากก็มีรายได้มาก แต่ในแง่บริการจัดว่าแย่ เพราะผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายน้อยลง รวมทั้งความปลอดภัยก็น้อยลงด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยต้องรับงานมากขึ้น จึงมีโอกาสหลุดรอดสายตาไปบ้าง อย่างเช่นที่มีการขโมยของในกระเป๋าผู้โดยสาร
อย่างไรก็ตามในความพลาดพลั้งก็มีโชคดีเหมือนกัน ถ้าตอนนั้น ทอท.ไม่ตัดสินใจทำแผนระยะยาว แต่ไปเลือกวิธีเพิ่มความจุด้วยการปิดพื้นที่บางส่วนของสนามบินดอนเมืองเพื่อรีโนเวต รับรองจะเกิดวิกฤติแน่ มีตัวอย่างให้เห็นแล้วที่สนามบินภูเก็ต ถ้าใช้โมเดลนี้ที่ดอนเมืองจะโกลาหลกว่าหลายเท่า
สำหรับแผนระยะสั้นและแผนระยะกลางเพื่อลดความแออัดที่ดอนเมือง ทอท.ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการ ประสานกับบริษัททัวร์ให้เอาพาสปอร์ตของนักท่องเที่ยวมาเช็กอินก่อน เพื่อให้ เร็วขึ้น และกำลัง สร้างอาคารอเนกประสงค์ ไม่เกิน 1 ปีเสร็จ ใช้เป็นพื้นที่สำหรับกรุ๊ปเช็กอิน และเป็นที่ให้กรุ๊ปทัวร์จัดกระเป๋าแพ็กของใหม่ จะได้ไม่เกะกะขวางทางอีเหละเขะขะ พร้อมกันนี้จะ จัดระบบแท็กซี่ ให้มารับผู้โดยสารได้เร็วขึ้น
วันนี้เอาที่มาที่ไปมาเล่าสู่กันฟัง ก็คงช่วยให้เกิดความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น หวังว่าอีกไม่นานสถานการณ์จะบรรเทาลงครับ.
ลมกรด