สงครามการค้าซึ่งมีเสียงฮึ่มฮั่ม มานานพอสมควร เปิดฉากขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 25% รวม 1,102 รายการ มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และฝ่ายจีนตอบโต้เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์เท่ากัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม

เป็นสงครามที่ตอบโต้กันอย่างดุเดือดเข้มข้น แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ระหว่างสองอภิมหาอำนาจ เป็นผลจากนโยบายของทรัมป์ ที่ประกาศตั้งแต่เมื่อหาเสียงเลือกตั้ง ว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” และ “จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” หลังจากที่ต่ำตกลงไป จากมูลเหตุสำคัญคือขาดดุลการค้ามหาศาลมาถึง 10 ปี อ้างว่าประเทศคู่ค้าเอาเปรียบ

การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า มูลค่าฝ่ายละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นเพียงยกแรกของสงครามการค้า ทรัมป์ขู่ว่าในยกที่ 2 จะเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเป็นมูลค่าถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ และอาจมียกที่ 3 และ 4 ตามมา เรื่องนี้เปรียบเทียบได้กับคำพังเพยของไทยที่ว่า “เมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกแหลกลาญ” กระทบถึงไทยมากน้อยแค่ไหน

ในระยะเริ่มแรก ดูเหมือนว่าทางการไทยจะไม่สนใจเรื่องสงครามการค้า แต่ต่อมากระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่าการส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์เซลล์ ขณะที่ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรประเมินว่า การส่งออกของไทยอาจเสียหายถึง 149,800 ล้านบาท หากสงครามการค้ายืดเยื้อจนเลยสิ้นปี 2561

ไทยเป็นประเทศที่ส่งสินค้า เข้าไปขายทั้งในจีนและสหรัฐฯ เมื่อเกิดสงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจ จึงได้รับผลกระทบเป็นธรรมดา และต้องไม่ลืมว่านอกจากการท่องเที่ยวแล้ว การส่งออกเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวสำคัญของไทย ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆเริ่มมีบ้างแล้ว เช่น ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัว และกระทบถึงดัชนีตลาดหุ้นไทย

...

แม้ไทยจะไม่ใช่คู่สงครามการค้า แต่จะตั้งอยู่ในความประมาทไม่ได้โดยเด็ดขาด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า สงครามการค้าจะส่งผลกระทบหลายประเทศ และหลายอุตสาหกรรม การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากจีน จะกระทบประเทศผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ประเทศไทยในฐานะคู่ค้าสำคัญ ของคู่สงครามการค้าทั้งสองประเทศ จึงต้องติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่า ประเด็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย คือสงครามการค้า แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองโลกในแง่ดี โดยคาดว่าในระยะยาวอาจกลายเป็นโอกาสทองของไทย ที่จะส่งสินค้าเข้าประเทศคู่สงครามการค้า.