และแล้วโรงภาพยนตร์ “ลิโด้” 1 ในตำนานของโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่ง 3 ใบเถาแห่งย่านสยามสแควร์ในยุคบุกเบิก ก็โบกมืออำลาไปอีกหนึ่งโรง
หลังจากที่ “พี่ใหญ่” โรงภาพยนตร์ สยาม อำลาไปก่อน จากการเกิดเหตุการณ์วุ่นวายยุคประเทศไทยอยู่ในช่วงแข่งกีฬาสีแบ่งขั้วการเมืองเป็น 2 ฝ่าย มีการปะทะมีการเข้าลอบวางเพลิงในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นสมรภูมิเลือดโดยตรง เกิดเพลิงไหม้ โรงภาพยนตร์สยาม จนทรุดและพังถล่มลงมาแบบไม่เหลือซาก เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
ยังเหลือก็แต่ “น้องเล็ก” โรงภาพยนตร์ สกาลา ซึ่งยังมีกำหนดฉายอยู่ แต่สัญญาเช่าที่กับสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ก็ใกล้จะหมดสัญญาแล้ว จะอยู่หรือไปอีกไม่นานเกินรอคงจะรู้กันละครับ
สำหรับ “ชายกลาง” หรือโรงภาพยนตร์ ลิโด้ ได้ฤกษ์อำลาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง บรรยากาศเต็มไปด้วยความซึมเศร้า มีแฟนๆที่เติบโตมากับโรงภาพยนตร์แห่งนี้ ไปร่วมอาลัยหนาตาตั้งแต่เที่ยงวัน
ในวันสุดท้ายของลิโด้จะฉายภาพยนตร์ 2 เรื่อง เป็นภาพยนตร์ฝรั่งเรื่อง “Tonigth at the Romance Theater” กับภาพยนตร์ญี่ปุ่น “Kids on the Slope” อีก 1 เรื่อง สลับกันไปทั้ง 3 โรง 1-2-3 แต่รอบสุดท้ายจริงๆ จะปิดด้วยภาพยนตร์ญี่ปุ่นในเวลา 20.15 น. ทั้ง 3 โรง
ย้อนอดีตกลับไป หัวหน้าทีมซอกแซกเองก็มีความหลังผูกพันอยู่กับโรงภาพยนตร์ทั้ง 3 แห่งอยู่ไม่น้อย ในฐานะสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเคียงคู่ไปกับการทำงานเลี้ยงชีพ เพราะเคยรับผิดชอบ คอลัมน์ “วิจารณ์บันเทิง” ของหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ก่อนมาอยู่ไทยรัฐ ต้องไปดูภาพยนตร์ที่ 3 โรงนี้ เพื่อเก็บเรื่องราวมาเขียนถึงอยู่เสมอๆ
โรงภาพยนตร์สยาม เกิดขึ้นก่อนเพื่อนจึงได้ชื่อว่า “พี่ใหญ่” เปิดฉายรอบปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2509 ด้วยภาพยนตร์ ยิ่งใหญ่เรื่อง “รถถังประจัญบาน” (Battle of the Bulge) ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
...
“ลิโด้” ถือกำเนิดอีก 2 ปีถัดมา เปิดฉายวันแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2511 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง “ศึกเซบาสเตียน (Games For San Sebastian) คนแน่นเอี๊ยดเต็มความจุ 1,000 ที่นั่ง
ในขณะที่ สกาลา ถือกำเนิดถัดมาอีก 1 ปีเศษๆ หลัง ลิโด้ มีขนาด 1,000 ที่นั่งเช่นกัน แต่ก่อสร้างและตกแต่งแบบคลาสสิกผสมผสานตะวันออกและตะวันตก สง่างามกว่าพี่ใหญ่และชายกลางหลายเท่า
น้องเล็กเปิดฉายรอบปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2512 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง “สองสิงห์ตะลุยศึก” (The Undefeated)
โรงภาพยนตร์ทั้ง 3 ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงแก่คนไทยที่นิยมภาพยนตร์ต่างประเทศมาโดยตลอด เป็นแหล่งนัดพบและแหล่งช็อปปิ้งของคนมีระดับติดต่อกันมาไม่ขาดสาย
จนกระทั่งปี 2536 เกิดไฟไหม้โรงภาพยนตร์ ลิโด้ จึงมีการสร้างและปรับปรุงใหม่แบ่งเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กจำนวน 3 โรง เรียกว่า ลิโด้ 1-2-3 และติดตั้งระบบเสียงแบบทันสมัยเช่นเดียวกับโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กที่เกิดขึ้นตามศูนย์การค้าทั้งหลาย
พร้อมๆกันนี้ก็มีการปรับปรุงด้านล่างของโรงภาพยนตร์เป็นช็อปเล็กๆนับร้อยช็อป สำหรับจำหน่ายเสื้อผ้าและเครื่องประดับตามแฟชั่นต่างๆ กลายเป็นศูนย์รวมของแฟชั่นที่คนหนุ่มสาวนิยมสูงสุดอยู่เป็นเวลานาน
แต่ในที่สุดงานเลี้ยงก็มาถึงวันเลิกรา เมื่อมีโรงภาพยนตร์ใหม่ๆทันสมัยโผล่ผุดขึ้นตามศูนย์การค้าจำนวนมาก ทำให้ความสำคัญของโรงภาพยนตร์ 3 ศรีพี่น้องแห่งสยามสแควร์เริ่มลดลงตามลำดับ
โรงภาพยนตร์ สยาม อำลาไปก่อน เพราะเหตุการณ์ทางการเมือง ดังได้กล่าวไว้แล้ว และ ปัจจุบันก็เกิดใหม่กลายเป็น “สยามสแคววัน” แต่ยังมีเชื้อของความบันเทิงหลงเหลืออยู่บ้าง โดยมี โรงละครเคแบงก์ สยามพิฆเนศ อยู่บนชั้นบนสุด
จากนั้นก็ถึงคิวของ ลิโด้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคมดังได้กล่าวไว้แล้ว
สำหรับ สกาลา ความจริงทางสำนักงาน จัดการทรัพย์สินจุฬาฯก็ยินดีต่อสัญญาให้ แต่ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการจะถอดใจ เพราะฉาย ภาพยนตร์อย่างเดียว รายได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายคงต้องรอไปอีกสักพัก จึงจะตัดสินใจว่าจะฉายต่อหรือไม่อย่างไร? หากไม่ฉายก็อาจจะต้องโบกมืออำลาอีกเช่นกัน
กลับมาที่บรรยากาศวันสุดท้ายของลิโด้อีกสักนิดนะครับ เสียดายที่หัวหน้าทีมซอกแซกมีภารกิจในตอนบ่าย ไม่สามารถอยู่ร่วมบรรยากาศได้นานนัก...ทำได้เพียงแค่เดินไปรอบๆ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังจากโรง 1 อ้อมไปโรง 3 แล้ว ก็ลงไปดูด้านล่างที่จำหน่ายเสื้อผ้าสินค้าแฟชั่นต่างๆอีกหน่อยหนึ่งเท่านั้น
เกือบทุกร้านขึ้นป้าย “วันสุดท้าย” เหมือนๆกันหมด เห็นแล้วก็ใจหาย เดาไม่ถูกเหมือนกันว่า แม่ค้าพ่อค้าแถวๆนี้จะไปมีแหล่งขายใหม่ ณ ที่ใด
ถ้าจะว่าไปอาคารต่างๆโดยรอบโรงภาพยนตร์ลิโด้ ค่อนข้างจะทรุดโทรมมากแล้ว รวมทั้งตัวโรงทั้ง 3 โรง ก็ดูเก่ามาก ถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าทางทรัพย์สินจุฬาฯจะไปดำเนินการก่อสร้างเป็นศูนย์อะไรต่อไปในอนาคต
ลาก่อนโรงภาพยนตร์ลิโด้...ขอบคุณสำหรับความบันเทิงและความสุขที่มอบให้แก่คนไทยมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานจากวันโน้นถึงวันนี้
เปิดฉายครั้งแรก 27 มิถุนายน 2511 ปิดโรง 31 พฤษภาคม 2561 เหลือแค่เดือนเดียวเท่านั้นจะครบ 50 ปี หากจะปัดเศษเป็น 50 หรือกึ่งศตวรรษให้เต็มๆไปเสียเลย คงไม่มีใครขัดข้องนะครับ.
“ซูม”