สองสัปดาห์ก่อนผมและคณะชาวไทยรัฐนำโดยคุณอา “ซูม” ได้ไปเยี่ยมชมโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทเอกชนของไทยกับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว มีบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ในเครือ ช.การช่าง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ใช้งบลงทุน 135,000 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 31 ปี

โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 7,370 ล้านหน่วยต่อปี ลูกค้ารายใหญ่คือประเทศไทย โดยได้ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.ถึง 95% และอีก 5% ขายให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว จะเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ปลายปีหน้า

โรงไฟฟ้าไซยะบุรีเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภท ให้น้ำไหลผ่านได้ตามธรรมชาติ (Run of River) ลักษณะเป็น ฝายระบายน้ำ เหมือนกับที่แม่น้ำดานูบในทวีปยุโรปก็มีโรงไฟฟ้าแบบนี้ประมาณ 20 โรง ในขณะที่โรงไฟฟ้าแถวแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีนสร้างเป็นแบบเขื่อนทั้งหมด

กลไกการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแบบฝายระบายน้ำใช้หลักการเดียวกันหมด คืออาศัยการไหลและแรงดันของน้ำไปหมุนกังหันน้ำขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตและจ่ายไฟฟ้าไปตามสายส่ง

แต่สิ่งที่โรงไฟฟ้าไซยะบุรีมีความโดดเด่นกว่าที่อื่นก็คือ ทางปลาผ่าน (Fish Passage) คุณธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ ซีเค พาวเวอร์ การันตีว่าทางปลาผ่านที่นี่ ใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุด และเป็นระบบที่ดีที่สุด เพื่อให้ปลาสามารถอพยพผ่านโครงการโรงไฟฟ้าไปได้ทุกฤดูกาล ทั้งอพยพทวนน้ำและตามน้ำ

ทางปลาผ่านสำหรับอพยพทวนน้ำ จัดทำเป็นระบบผสม ใช้หลักการควบคุมความเร็วของกระแสน้ำเป็นปัจจัยล่อปลาให้ว่ายทวนน้ำ มีทางเข้า 4 ช่องทางเชื่อมกับ ทางปลาผ่าน ความยาว 460 เมตร กว้าง 18 เมตร ดีไซน์ให้ความลาดชันลดเหลือ 1.2% ประกอบด้วยแอ่งน้ำ 48 แอ่ง แต่ละแอ่งจะมีช่อง (Slot) 3 ขนาดคือ ขนาด 0.5 เมตร 1.0 เมตร และ 1.6 เมตร เพื่อควบคุมความเร็วของน้ำและให้ปลาที่มีขนาดแตกต่างกันว่ายผ่านไปได้ ในอ่างออกแบบให้มีทั้งส่วนตื้นและส่วนลึก สำหรับเป็นที่หลบภัยของปลาขนาดเล็ก

...

เมื่อไปถึงปลายทางแล้วจะเจอช่องยกระดับปลา โดยจะค่อยๆเติมน้ำเข้าไปในช่อง พร้อมกับยกพื้นขึ้นช้าๆด้วยอัตราความเร็วเท่ากับระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น คล้ายกับปลากำลังขึ้นลิฟต์ เป็นการต้อนและยกปลาสู่คลองระดับบน ทำให้ปลาว่ายสู่เหนือน้ำได้สะดวก

ส่วนช่องทางปลาอพยพตามน้ำ จัดทำเป็นระบบควบคุม มีช่องทางเข้าตลอดแนวด้านเหนือโรงไฟฟ้า เชื่อมต่อกับแอ่งพักปลา จากนั้นให้ไหลลงสู่ลานเทที่ยาวและคดไปมา เพื่อลดความลาดชันและผลกระทบจากกระแสน้ำที่อาจเป็นอันตรายต่อปลาได้

ที่สำคัญคือกังหันน้ำขนาดใหญ่ถูก ออกแบบเป็นพิเศษให้เป็นมิตรกับปลา เรียกว่า Fish Friendly Turbine ลดจำนวนใบพัด จาก 6 ใบพัดเหลือเพียง 5 ใบพัด และ ลดรอบการหมุน จากไม่ต่ำกว่า 100 รอบต่อนาที เหลือเพียง 83 รอบต่อนาที เมื่อจำนวนใบพัดยิ่งน้อย รอบการหมุนยิ่งต่ำ โอกาสที่ปลาจะชนใบพัดก็ยิ่งน้อยลง อย่างไรก็ตาม การลดใบพัดและรอบการหมุนก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมหาศาล เพราะจะต้องเพิ่มเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดมหึมามาชดเชย

ลาวมีแผนจะสร้างไฟฟ้าแบบนี้อีก 4 แห่ง ก็คงต้องกำหนดเงื่อนไขด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พันธุ์ปลาให้มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าของโรงไฟฟ้าไซยะบุรี

สำหรับไทยแม้อยู่ติดแม่น้ำโขง แต่สภาพภูมิประเทศไม่เหมาะที่จะสร้างโรงไฟฟ้าแบบนี้ ครั้นจะสร้างเขื่อนก็เจอเอ็นจีโอขวาง ในอนาคตถ้ามีภาคเอกชนจะไปสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ประเทศเพื่อนบ้านแล้วเอาไฟฟ้ามาขายให้ไทย ผมหวังว่ารัฐบาลไทยจะช่วยสนับสนุน เพราะไฟฟ้าจากพลังน้ำมีต้นทุนถูก ผลิตได้ทั้งวันทั้งคืน ขณะที่ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ผลิตได้วันละไม่กี่ชั่วโมง ส่วนไฟฟ้าจากฟอสซิลก็ตกเทรนด์ไปแล้วครับ.

ลมกรด