เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหนังสือพิมพ์มติชนหยิบยกคำสัมภาษณ์ของท่านอาจารย์สุขุม เฉลยทรัพย์ เจ้าตำรับสวนดุสิตโพลมาเป็นข่าวหน้า 1 ผมอ่านแล้วก็ต้องรีบตัดเก็บใส่แฟ้มเอาไว้

อาจารย์สุขุมบอกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยรวมกันถึงกว่า 200 แห่ง แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 150 แห่ง เพราะ 2 ปีที่ผ่านมามีการปิดตัวลงไปจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน

สาเหตุที่ปิดตัวเองก็มาจากหลักดีมานด์ซัพพลายทางเศรษฐศาสตร์นั่นแหละครับ วิชาไหน คณะไหน มหาวิทยาลัยไหนผลิตบัณฑิตที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดมากๆ จบแล้วไม่มีงานทำ มหาวิทยาลัย หรือคณะ หรือวิชานั้นๆก็จะไม่มีคนเรียน

สำหรับคณะ หรือแผนกวิชาที่คนเรียนน้อยลงจนต้องปิดไป ท่านก็ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยสวนดุสิตของท่านว่า เคยเปิดทั้งหมด 60 สาขา ปัจจุบันปิดไปแล้วถึง 36 สาขา

ส่วนใหญ่เป็นสาขานิเทศศาสตร์ ครุศาสตร์ ที่ระยะหลังๆแทบไม่มีคนเลือกเรียนเลย

ถามว่าสาขาไหนที่เด็กๆอยากเรียนมากที่สุด คำตอบก็คือ สาขาพยาบาลศาสตร์ อาหาร และหลักสูตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล

แม้ตัวอย่างที่อาจารย์สุขุมนำมาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟัง จะเป็นตัวอย่างเพียงมหาวิทยาลัยเดียว แต่ผมก็เชื่อว่าสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยเราทุกวันนี้อย่างถูกต้อง

ใครจะอยากเรียนนิเทศศาสตร์ (ซึ่งเคยฮิตมากเมื่อ 10 ปีก่อน) เพราะเป็นอาชีพที่จะตกงานง่ายสุด และหางานยากสุดนับแต่นี้เป็นต้นไป

จากการปิดตัวเองของนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างๆ รวมไปถึงการขาดทุนย่อยยับของโทรทัศน์ช่องต่างๆที่รอวันตายกันเป็นแถวๆในขณะนี้

ครุศาสตร์ก็เช่นกัน เปิดสอบครูทีไรคนสมัครเป็นหลายๆหมื่น เพื่อแย่งตำแหน่งที่มีอยู่นิดเดียว แสดงว่าใครเรียนครูโอกาสไม่มีงานทำจะสูงมาก

จึงถูกต้องแล้วที่เด็กๆอยากจะเรียนพยาบาล ซึ่งน่าจะยังหางานง่ายกว่า รวมทั้งวิชาที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ที่สมัยนี้หางานได้ง่ายมาก

...

นอกจากนี้ รัฐบาลท่านก็ยังกล่อมหูอยู่ทุกวันว่า 4.0 เราต้องไปสู่ 4.0 เพิ่มรายได้จากนวัตกรรมจากความคิดสร้างสรรค์ จะมีสมาร์ทฟาร์เมอร์ จะมีชาวนา 4.0 จะมีสตาร์ตอัพ จะมีเอสเอ็มอี 4.0 ฯลฯ

เด็กไทยรุ่นใหม่ก็เลยฝันว่าจะเป็นเด็กนวัตกรรมและจะมุ่งไปเรียนทางด้านนี้เป็นส่วนมากโดยลืมข้อเท็จจริงไปว่า คนจะเรียนได้ต้องสมองเลิศพอสมควร และในประเทศไทยจะมีสักกี่คน

ที่สำคัญจะมีสักกี่คนที่ประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัพร่ำรวยร้อยล้านในชั่วพริบตา

เพียงแต่คนชอบจะพูดถึงหรือยกตัวอย่างผู้ที่ประสบความสำเร็จและมักจะลืมเอ่ยถึงผู้ที่เจ็บหรือขาดทุนปิดกิจการระเนนระนาด ซึ่งมีมากกว่า

แต่ก็เอาเถอะครับ รัฐบาลจะประชาสัมพันธ์หรือมุ่งเน้นในนโยบาย 4.0 อย่างไร ผมเองเรียนหลายครั้งแล้วว่าไม่ขัดข้อง เพราะบนเส้นทางการพัฒนาประเทศ อย่างไรเสียเราก็จะต้องมุ่งหน้าไปสู่จุดที่ว่านี้

ผมเพียงแต่ท้วงติงเอาไว้บ้างเท่านั้น ขอให้รัฐบาลตระหนักถึงความเป็นจริงของประเทศไทยและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยว่าคนไทยไม่มีสิทธิไป 4.0 ได้ทุกคน และจริงๆแล้วจะไปได้น้อยมาก

จะได้ไม่เร่งรัดหรือใจร้อนเกินเหตุ จนนำไปสู่การลงทุนใหญ่ต่างๆ ใช้เงินใช้ทองมากมายกลายเป็นการสูญเสียสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

สำหรับเด็กหรือเยาวชนของเรานั้นเมื่อฟังรัฐบาลพูดถึง 4.0 ก็ขอให้ฟังหูไว้หู และอย่าฝันตามรัฐบาลไปอย่างสุดตัว มุ่งจะเป็นแต่เด็กเทคโนโลยีหรือเด็กนวัตกรรม อยากรวยเร็ว อยากทำงานสบายๆ จนลืมปรัชญาที่สำคัญยิ่งในยุคประเทศไทยสร้างเนื้อสร้างตัวในยุค 2.0 ไปเสียหมด

ปรัชญาหรือค่าสั่งสอนของผู้ใหญ่ยุคก่อนก็คือ ขอให้เด็กๆอย่าเลือกงาน งานอะไรก็ได้ที่สุจริตก็ขอให้ทำไปเถิด หนักเหนื่อยแค่ไหนก็ขอให้อดทน ขอให้ขยันหมั่นเพียร

ก็ขอฝากปรัชญายุค 2.0 เอาไว้ด้วยนะลูกๆหลานๆเอ๊ย มันต้องขยันก่อน อดทนก่อน แล้วก็มีความเพียร มีความตั้งใจ และมีความอดออมกันซะก่อน...พอเริ่มมีสตางค์เหลือใช้เหลือเก็บแล้ว พวกนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีจะตามมาเอง

ถ้าขืนเริ่มด้วยความคิด 4.0 “ฝันหวาน” ว่าแผล็บเดียวตูจะรวยแล้วละก็ รับรองว่าไปไม่รอดแน่นอนลูกหลานเอ๊ย! เพราะจะกลายเป็นคนไทยเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อกันไปทั้งชาติ.

"ซูม"