ช่วงปีสองปีแรกของรัฐบาล คสช.มีการจัดระเบียบการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐอย่างเข้มข้น จริงจัง และเฉียบขาด ในหลายจังหวัด เช่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก นครราชสีมา แต่มาระยะหลังการจัดระเบียบดังกล่าวแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด มีบางจังหวัดที่เกิดปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐในลักษณะเดียวกัน แต่รัฐบาลกลับไม่ได้เข้าไปจัดระเบียบ ยังปล่อยให้อยู่อาศัยและทำกินโดยไม่ต้องขออนุญาต

วันนี้ผมขอเล่าถึง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมี ที่ราชพัสดุแปลง สฎ.848 (บ่อถ่านศิลา) เนื้อที่ประมาณ 900,000 ไร่ ครอบคุลมอำเภอพระแสง อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอเคียนซา อำเภอพนม และอำเภอพุนพินบางส่วน เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง โดยมี กรมธนารักษ์ เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการพื้นที่

ปัจจุบันที่ราชพัสดุดังกล่าว มีราษฎรและนิติบุคคล เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ ในที่ดินเกือบเต็มพื้นที่หมดแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

ประเภทแรก ราษฎรและนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ จากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานี มีประมาณ 3,600 ราย เนื้อที่ประมาณ 16,800 ไร่ เป็นทั้งย่านชุมชน ตลาด มีการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัย ธนาคาร ปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ โรงแรมขนาดเล็ก รวมไปถึงทำสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของคนท้องถิ่น สวนกล้วยหอมทอง ส้มโชกุน ฯลฯ

ประเภทที่สอง ราษฎรและนิติบุคคลที่บุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ไม่สามารถระบุได้ว่ามีทั้งสิ้นกี่ราย แต่กินเนื้อที่หลายแสนไร่ ซึ่งหลายรัฐบาลที่ผ่านมาปล่อยปละละเลยจนเป็นปัญหาหมักหมมถึงปัจจุบัน ในส่วนนี้ทำให้รัฐขาดรายได้ที่ควรจะได้รับจากการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรือค่าเช่าในแต่ละปีเป็นเงินจำนวนมาก

หนำซ้ำราษฎรที่ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตยังนำที่ดินที่ครอบครองไปขายต่อกันเป็นทอดๆ ซื้อขายกันราวกับเป็นที่ดินเอกสารสิทธิ์

...

ต้นตอปัญหาการบุกรุกพื้นที่เริ่มจาก มีการจัดตั้งกลุ่มบุคคลใช้กลอุบายหลอกลวงชาวบ้านยากไร้ให้เข้ามาเป็นสมาชิก หรือมาร่วมประชุม โดยปลุกปั่นว่าถ้าชาวบ้านบุกเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่แล้วต่อไปรัฐจะจัดสรรพื้นที่มาให้อย่างแน่นอน ดังที่เห็นในข่าวเป็นระยะๆว่ามีชาวบ้านบุกยึดพื้นที่เรียกร้องให้รัฐจัดสรรที่ดินทำกินให้ บางกรณีรัฐสามารถผลักดันกลุ่มชาวบ้านออกนอกพื้นที่ได้ แต่ในบางกรณีรัฐก็โอนอ่อนผ่อนตามยอมจัดสรรที่ดินทำกินให้ ซึ่งมีชาวบ้านบางส่วนที่ได้ที่ดินทำกินไปแล้วแต่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ก็นำสิทธิไปขายให้บุคคลอื่นเป็นทอดๆ

ในทำนองเดียวกันยังมีกลุ่มนายทุนจากจังหวัดใกล้เคียง เข้ามาครอบครองพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอพระแสง เคียนซา คีรีรัฐนิคม พนม และพุนพิน โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากกรมธนารักษ์เช่นกัน

ไม่รู้ว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ แต่ต้องถือว่าสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานีเพิกเฉยต่อปัญหา เลือกปฏิบัติ ไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ราชพัสดุแปลง สฎ.848 คิดคร่าวๆตกปีละหลายร้อยล้านบาท.

ลมกรด