วันเสาร์สบายๆวันนี้มาคุยถึง Connected Car ยานยนต์แห่งอนาคตกันดีกว่า ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้งานประเภทหนึ่งของ Internet of Things (IoT) โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมารวมเข้ากับยานยนต์และการคมนาคมขนส่ง
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้รถสามารถสื่อสารกับสิ่งต่างๆได้ มีทั้ง 1.เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงของผู้โดยสาร 2.เชื่อมต่อกับบริการเกี่ยวกับการขับขี่ เช่น บริการนำทาง บริการตรวจเช็กรถจากระยะไกล 3.สื่อสารกับสิ่งต่างๆรอบตัว เช่น รถยนต์คันอื่น สัญญาณไฟจราจร 4.นำการสื่อสารมาผนวกกับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ซึ่งใช้ในการตรวจจับสิ่งที่อยู่รอบตัว และนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อการขับขี่ กลายเป็นรถยนต์ไร้คนขับ
ในสหภาพยุโรป มีบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน eCall รถทุกคันต้องติดตั้ง อุปกรณ์โทร.อัตโนมัติ เมื่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรง พร้อมส่ง ข้อมูลการทำงานของถุงลมนิรภัย ข้อมูลจากเซ็นเซอร์วัดความรุนแรงในการชน และพิกัดของรถยนต์ ไปให้หน่วยงานช่วยเหลือฉุกเฉินได้ทราบ จะช่วยลดระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ถึง 40-50% นอกจากนี้ ยังมีบริการ ประกันภัยที่คิดเงินตามการขับจริง โดยดูข้อมูลจาก ลักษณะพฤติกรรมการขับขี่ ซึ่งบริษัทประกันภัยจะนำข้อมูลนี้มาประเมินความเสี่ยงคำนวณเบี้ยประกัน
การสื่อสารระหว่างรถยนต์กับสิ่งรอบตัว ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เช่น รถคันหน้าแจ้งเตือนรถคันหลังเมื่อมีการเบรก หรือสัญญาณไฟจราจรแจ้งให้รถหลีกเลี่ยงเส้นทางที่รถติด ช่วยให้การคมนาคมคล่องตัวขึ้นและประหยัดเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม การใช้งานลักษณะนี้หากจะให้ได้ผลในวงกว้าง จำเป็นต้องให้รถยนต์จำนวนมากติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ในสหรัฐอเมริกากำลังผลักดันเรื่องนี้อย่างเข้มข้น โดยหน่วยงาน National Highway Traffic Safety Administration อยู่ระหว่างเสนอร่างกฎระเบียบ บังคับให้รถใหม่ทุกคันต้องติดอุปกรณ์สื่อสารระหว่างรถยนต์
...
บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ Gartner คาดการณ์ว่าใน ปี 2020 ทั่วโลกจะมียานยนต์ Connected Car จำนวน 250 ล้านคัน หรือประมาณ 20% ของรถยนต์ทั้งหมด Connected Car จะทำให้รถยนต์กลายเป็น สมาร์ทโฟนติดล้อ รองรับแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ช่วยให้การคมนาคมขนส่งปลอดภัยมากขึ้น คล่องตัวมากขึ้นและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับประเทศไทย ถึงแม้รัฐบาลกำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) แต่การพัฒนา Connected Car ให้ใช้งานได้จริงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องทำให้ อุตสาหกรรมยานยนต์ กับ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งแตกต่างกันอย่างมาก ให้มาร่วมมือกันให้ได้
ในแง่ของการบริหารคลื่นความถี่ สำนักงาน กสทช. ได้ปรับปรุงประกาศ 2 ฉบับเกี่ยวกับการใช้เครื่องวิทยุคมนาคมระบบเรดาร์ที่ใช้ติดตั้งในรถยนต์ เพื่อรองรับการใช้งานสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ และขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา คลื่นความถี่สำหรับการสื่อสารระหว่างรถยนต์กับสิ่งรอบตัว
นอกจากการกำกับดูแลการใช้คลื่นของ กสทช.แล้ว ยังต้องมีความร่วมมือกันระหว่าง หน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆที่เกี่ยวกับการคมนาคมขนส่ง และต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย เช่น ข้อกำหนดของรถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ Connected Car โครงสร้างพื้นฐานตามถนน กฎจราจรรองรับการใช้งานของรถยนต์ไร้คนขับ การประกันภัยรูปแบบใหม่สำหรับรถยนต์ไร้คนขับที่ใช้งานร่วมกับผู้อื่นตามแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน
แม้ว่ายังต้องดำเนินการอีกหลายอย่าง แต่อีกไม่นานเกินรอ Connected Car ยานยนต์แห่งอนาคตก็ต้องมาแน่ เพราะนี่คือกระแสโลก.
ลมกรด