พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมีผลบังคับใช้มากว่า 3 เดือนแล้ว มีหลักเกณฑ์ข้อบังคับมากมาย จนหลายหน่วยงานไม่กล้าผลีผลามลงนามสัญญา บางหน่วยงานดึงเวลารอดูเพื่อนเป็นตัวอย่างก่อน ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณที่ต้องเอามาขับเคลื่อนประเทศล่าช้ากว่ากำหนด

นอกจากนี้มีเสียงบ่นกันมากถึงความยุ่งยากลำบากในขั้นตอนต่างๆ ครั้นจะโทร.สอบถามเจ้าหน้าที่ก็แสนยากเย็น เพราะทุกหน่วยงานรัฐต้องเข้าเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางตามวันและเวลาที่กำหนดเท่านั้น เหมือนกับว่าทุกอย่างต้องมารวมศูนย์ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม

หัวใจของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่นี้อยู่ที่ ความโปร่งใส และ ประหยัดงบประมาณ แต่การให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจต้องปฏิบัติเหมือนกันหมดนั้น เป็นวิธีที่ถูกต้องและคุ้มค่าจริงหรือ? เพราะแต่ละหน่วยงานมีความชำนาญไม่เท่ากัน และบางโครงการอาจมีความจำเป็นเร่งด่วนในแง่นโยบาย

ผลการประเมิน ระดับคุณธรรมและความโปร่งใส (Integrity and Transparency Assessment) ของหน่วยงานภาครัฐ 422 แห่ง ประจำปีงบประมาณ 2560 ซึ่งจัดทำโดย ป.ป.ช. ปรากฏว่า 5 อันดับแรกของทั้งประเทศที่ได้คะแนนการประเมินสูงสุดคือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ 97.97 คะแนน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ 97.13 คะแนน สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้ 96.55 คะแนน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ได้ 96.43 คะแนน และ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ได้ 96.12 คะแนน

เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้ง 5 หน่วยงานนี้ไม่ได้ใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างมาตั้งแต่กฎหมายฉบับเดิม แต่กำหนดระเบียบวิธีจัดซื้อจัดจ้างที่ ยืดหยุ่น ผ่อนปรน และ คล่องตัว กว่าหน่วยงานราชการ แต่ก็มีความโปร่งใสติดอันดับ ท็อปไฟว์ ฉะนั้น การบังคับใช้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่กับทุกหน่วยงานภาครัฐใช่ว่าจะการันตีความโปร่งใสได้อย่างแท้จริง

...

ถ้าจะให้การจัดซื้อจัดจ้างปลอดจากการทุจริต และการใช้จ่ายงบประมาณคุ้มค่าที่สุด ผมอยากเสนอให้ตั้ง กระทรวงจัดซื้อจัดจ้าง ภารกิจมีอย่างเดียวคือ จัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการของภาครัฐ โดยโอนย้ายหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างในทุกกระทรวง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอิสระ ไปอยู่กระทรวงจัดซื้อจัดจ้าง รีเซตการทำงานใหม่ทั้งระบบและบุคลากร

ต่อไปหน่วยงานไหนอยากซื้อพัสดุอุปกรณ์ หรืออยากสร้างถนนสร้างอาคาร ก็แค่ส่งแผนโครงการและสเปกไปให้กระทรวงจัดซื้อจัดจ้างตรวจสอบราคาและจัดประมูลแทน

สถานะของกระทรวงนี้จะเป็นทั้ง ผู้เชี่ยวชาญ และ ผู้รับผิดชอบโดยตรง ดังนั้น ทุกโครงการที่จัดซื้อจัดจ้างจะต้องโปร่งใส ไร้ข้อครหา ไม่รั่วไหล และราคาถูกลง

เมื่อทุกโครงการของรัฐไม่ถูกหักหัวคิว ไม่มีจ่ายใต้โต๊ะ 30-40% นักการเมืองก็จะไม่จ่ายเงินหลายสิบล้านซื้อเสียงเลือกตั้ง ไม่จ่ายเงินหลายร้อยล้านซื้อเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะถึงได้ตำแหน่งก็ไม่มีช่องทางให้ถอนทุน

เดี๋ยวนี้การเมืองท้องถิ่นก็ใช่ย่อย จังหวัดใหญ่ๆ พื้นที่เศรษฐกิจ เลือกตั้งนายก อบจ.ใช้เงินเกือบร้อยล้าน เลือกตั้งเทศมนตรีบางแห่งซื้อเสียงหัวละพัน นักการเมืองเหล่านี้ลงทุนแล้วมีหรือที่จะไม่ถอนทุนคืน

ไหนๆบิ๊กตู่ตั้งใจจะให้เลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้งใหญ่ ก็น่าจะลองใช้มาตรการนี้ชิมลางซะเลย ใช้ ม.44 ปรับโครงสร้างใหม่ ตั้งกระทรวงจัดซื้อจัดจ้างมาเป็นตัวแทนจัดประมูลทุกโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับรองแก้ซื้อเสียงได้ทันตาเห็น.

ลมกรด