(ภาพประกอบ)

หลายครั้ง ผมนั่งจิบกาแฟริมเจ้าพระยาท่าเตียน พระอาทิตย์ตกดิน สาดแสงอ่อน ผ่านพระปรางค์วัดอรุณ พระราชวังเดิมที่ตั้งกองทัพเรือ สิ้นสุดที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ปากคลองบางหลวง

ฟื้นความความหลังสองปี ชีวิตทหารเรือ หมวดเรืออุทกศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์

โรงเรือนชั้นเดียว หลังคาสังกะสี ใช้กำแพงวังเดิมเป็นฝาด้านข้าง ที่อยู่ของพวกเรา เรียก “กราบ” หลังป้อมวิชัยประสิทธิ์ ซุกอยู่ในป่ากล้วยรกเรื้อ

พื้นที่ 3-4 ไร่ ตรงนี้ หมอบรัดเลย์เคยเช่าทำโรงพิมพ์เผยแพร่หนังสือไทย หมดสัญญาเช่ากับลูกสาวหมอบรัดเลย์ปี 2485 ปี 2494 หลัง ร.ล.ศรีอยุธยาจม...ในกบฏแมนฮัตตัน โรงเรือนนั้นเป็นที่พักทหารญี่ปุ่นกู้ ร.ล.ศรีอยุธยา

งานพลทหารเรือช่วงว่างภารกิจทะเล ดูแลเรือประมงสามลำที่จอดหน้ากองทัพเรือ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นงานถางหญ้า ถางหญ้าไป ก็มักมองข้ามคลองบางหลวง เห็นศาลาริมน้ำ โบสถ์วิหาร วัดกัลยาฯฝั่งตรงข้าม

เส้นปักปันแดนทหารเรือ มุมในกำแพงวัดท้ายตลาด (โมลีโลกยาราม) มุมนอกเป็นกำแพงสังกะสีโย้เย้

แหวกกำแพงสังกะสีผ่านวัดท้ายตลาด เดินตรงไปผ่านมัสยิดต้นสน กูโบที่ฝังศพเจ้าพระยาจักรี (แขก) ขุนพลใหญ่พระเจ้าตาก ไปจนถึงวัดหงส์

ฝั่งตรงข้ามคลองบางหลวงบริเวณนี้ เริ่มมีบ้านเรือนเบียดเสียด มองจากริมน้ำ ผมเคยคิดว่าบ้าน “แม่พลอย” นางเอกเรื่องสี่แผ่นดิน อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ ตั้งใจจินตนาการ “อยู่ตรงไหน”

แม่พลอยเกิดริมคลองบางหลวง เป็นคน “ก๊กฟากขะโน้น” (สืบตำนานสานประวัติ ว.วินิจฉัยกุล สำนักพิมพ์ทรีบีส์ 2553) ก๊กฟากขะโน้น คือ สกุลบุนนาค ขุนนางที่รุ่งเรืองที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์

มีเชื้อสายวงศ์วานมากมาย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5

...

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯสถาปนาเมืองหลวงขึ้นทางฝั่งตรงข้าม คนสกุลบุนนาคก็ยังอยู่ฝั่งธนบุรี ชาวกรุงรุ่นเก่าเอ่ยคำ “ฟากขะโน้น ก็รู้กัน” “พวกไหน”

หัวหน้าสกุลบุนนาคเป็นเจ้าพระยามาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4

ขุนนางสกุลนี้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาสองท่าน สมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย

บ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ เรียก บ้านบน บ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย บ้านล่าง

พวกบ้านบนสมัยต้นรัชกาลที่ 5 คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ บุตรชายคนโตสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ตำแหน่งสูงสุด เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

พระยาพิพิธฯเจ้าคุณพ่อของพลอย ตัวละครสมมติ ผู้แต่งว่าเป็นพวกบ้านบน เจ้าคุณก๊กฟากขะโน้น

แม้เป็นตัวละครสมมติ แต่คนรุ่นที่ทันอ่านสี่แผ่นดิน ลงเป็นตอนๆในสยามรัฐ ก็เข้าใจถือเป็นเรื่องจริงจัง ตอนแม่พลอยแพ้ท้อง ปรารภกับคุณเปรมว่า อยากรับประทานมะม่วงดิบ

ไม่ใช่หน้ามะม่วง ก็มีท่านที่นับญาติกับแม่พลอย ส่งมะม่วงดิบ มาให้ถึงโรงพิมพ์สยามรัฐ ท่านผู้นั้น อาจารย์คึกฤทธิ์เล่าเองว่า คือ เจ้าจอมอาบ ในรัชกาลที่ 5 หนึ่งในคนสกุลบุนนาค

ฉากสุดท้าย ในวันที่น้ำคลองบางหลวงแห้งขอด วันนั้นวันสวรรคตพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 หัวใจพลอยที่บอบช้ำ ความทุกข์สุขผิดหวังสมหวังมาตลอดสี่แผ่นดิน จนอ่อนล้าโรยราเต็มที ก็หลุดลอยไปตามกระแสน้ำ

ผมมีความทรงจำมากมาย แต่ที่ฝังใจลึกซึ้งกว่า น่าจะตอน พลอยตายริมคลองบางหลวง

ผมยังไม่ได้ดูสี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล เวอร์ชั่นที่ 3 ของคุณบอย ถกลเกียรติ ที่เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ครับ

ได้ข่าวว่าเปลี่ยนหลายฉากใหม่ เท่าที่ดูมาแล้ว ฉากเปิดเรื่อง นก สินจัย บอกสั้นๆ ฉันชื่อพลอย ฉันรักพระเจ้าแผ่นดิน...กระแทกหัวใจ ลึกซึ้งเสียจน ไม่คิดว่า จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ดีกว่าอีกแล้ว.

กิเลน ประลองเชิง