นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2560 วันครบรอบปีแห่งการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทยมาจนถึงวันนี้ อังคารที่ 17 ตุลาคม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษ ชุด “ไทยรัฐร่วมพสกนิกรไทย ส่งใจสู่ฟ้าอาลัยพ่อ” ผ่านมาแล้ว 5 ฉบับ

สร้างความฮือฮาให้แก่ท่านผู้อ่านรุ่นกลางคนลงมาจนถึงรุ่นหนุ่มสาวไม่น้อยเลยกับเทคโนโลยี AR ที่ทำให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษชุดนี้กลายเป็นหนังสือพิมพ์มีชีวิต พูดได้ ร้องไห้ได้ ร้องเพลงได้ ฯลฯ

ผมเองเพิ่งจะมีโอกาสได้ส่อง AR ดูภาพ ดูความเคลื่อนไหวก่อนเขียนต้นฉบับ วันนี้ (บ่ายๆวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม) เพราะก่อนหน้านี้ต้องทำโน่นทำนี่ยุ่งไปหมด

ส่องแล้วดูแล้วนํ้าตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัวอีกครั้ง ตั้งแต่ฉบับแรกที่นำท่านผู้อ่านย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์วันวิปโยค 15.52 น. 13 ตุลาคม 2559 “365 วันสวรรคต โศกสลดมิจางหาย” มาจนถึงฉบับที่ 4 “สุนทรคีตศิลป์ ถวายบดินทร์สวรรคาลัย”

โดยเฉพาะฉบับที่ 4 ผมทึ่งมาก อย่าหาว่าเชียร์กันเองเลยครับ น้องๆผมฝ่ายเทคนิคจาก ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 และ บริษัทอุ๊คบี พันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้าน AR ร่วมกันโชว์ฝีมืออย่างสุดยอด

...

ส่องออกมาเป็น “ตู้เพลง” หรือ “จู๊คบ็อกซ์” แบบสมัยโบราณรวมเพลงที่ศิลปินทุกสาขา ทั้งลูกทุ่งเพื่อชีวิตและนักร้องร็อก นักร้องแร็พแต่งถวายในหลวง ร.9 บันทึกความเศร้าโศกเอาไว้ถึง 9 เพลง

กดฟังได้ทุกเพลงตั้งแต่ “พระราชาในนิทาน” เพลงของเด็กๆจาก เสถียรธรรมสถาน, เพลง “เล่าสู่หลานฟัง” จากครู สลา คุณวุฒิ ฯลฯ ไปจนถึงเพลง “ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9” ของ เสก โลโซ

รวมทั้งบทสัมภาษณ์เบื้องหน้าเบื้องหลังการแต่งเพลง “ล้นเกล้าเผ่าไทย” หรือเพลงสรรเสริญพระบารมีของคนลูกทุ่ง โดยอาจารย์ ชลธี ธารทอง ศิลปินแห่งชาติ ที่ให้ทั้งความรู้ ความคิด และความอาลัย

ทำให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันจันทร์เป็นหนังสือพิมพ์มีชีวิต ร้องเพลงได้ ร้องไห้ได้ อย่างที่มีการประชาสัมพันธ์เอาไว้

ท่านที่ยังไม่ได้ส่อง ยังไม่ได้เล่น AR กับไทยรัฐฉบับพิเศษ กรุณาหยิบมาส่องเร็วๆนะครับ

ที่น่าเห็นใจก็คือแฟนไทยรัฐรุ่นใหญ่ประเภทเกิดสมัยสงครามโลกรุ่นผมและเพื่อนๆ มาจนถึงรุ่น “เบบี้บูม” คือหลังพวกผมเล็กน้อยที่ศัพท์เทคนิคสมัยใหม่เขาเรียก Gen อะไรผมก็ลืมเสียแล้ว

รู้แต่ว่าพวกเรากันเองจะเรียกคนรุ่นนี้ว่า “ส.ว.” หรือบางครั้งก็เติมคำแบบให้เกียรติไปด้วยว่า “ท่าน ส.ว.” ที่ย่อมาจาก “สูงวัย” นั่นแหละ

คนรุ่นเราส่วนใหญ่จะตกรุ่นไปแล้ว มีมือถือก็ใช้แค่เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรืออย่างเก่งก็ดูเฟซบุ๊ก ดูไลน์นิดหน่อย

จึงไม่รู้ว่าถ้าเอามือถือไปดาวน์โหลดแอพ Thairath AR แล้วจะสามารถส่องออกมาทำให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษมีชีวิตอย่างที่ว่า

คนรุ่นนี้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์เลยครับที่ไปรอซื้อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษตั้งแต่เช้า เพื่อจะซื้อไว้เก็บเป็นอนุสรณ์ เป็นที่ระลึก โดยไม่ทราบว่าเป็นหนังสือพิมพ์พูดได้

ผมขออนุญาตบอกกล่าวไปถึงคนรุ่นเดียวกัน ณ บัดนี้เลยว่า รีบไปให้ลูกๆหลานๆที่รู้เทคโนโลยีดีกว่าเราดาวน์โหลดแอพ Thairath AR เลยครับ เขาบอกวิธีไว้ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแล้ว ท่านจะได้นำมาใช้ส่องดูหนังสือพิมพ์พูดได้ อันจะทำให้ได้อรรถรสอย่างเต็มที่เหมือนผมที่นั่งตื้นตันใจหลังจากส่องดูฉบับแรกมาจนถึงฉบับนี้อย่างที่บอกไว้แล้ว

ว่ากันว่าการทำให้หนังสือพิมพ์มีชีวิตชีวานี่แหละที่จะเป็นทางออกหรือทางรอดของหนังสือยุคใหม่ที่กำลังเจอปัญหา “ดิจิทัลสึนามิ” โดนถล่มด้วยสื่อสังคมออนไลน์ จนหลายๆฉบับต้องปิดตัวลงไปในยุคนี้

ไทยรัฐเราทดลองมาแล้ว 2 ครั้ง รวมทั้งครั้งนี้...ประสบผลสำเร็จงดงามในแง่ยอดจำหน่ายไม่น้อยเลย

ทำให้เรามีกำลังใจและตั้งใจว่าจะพยายามจัดทำบ่อยๆครับ...อาจไม่ถึงขั้นประจำทุกวัน แต่อาจเป็นทุกๆเทศกาลสำคัญๆ หรือพยายามทำให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในอนาคต

ปล.ฉบับวันอังคารที่ 17 ต.ค.ในชื่อ “หลอมใจถวายภักดิ์ แจ้งประจักษ์ทั้งโลกา” นี่ก็อย่าลืมส่อง AR ด้วยนะครับ ส่องไปที่รูปช้างที่มาถวายบังคมนั่นแหละ เพื่อที่จะดูภาพช้างศึกเดินได้ ลุกขึ้นยืนแล้วเดินพาเหรดทั้งโขลงบนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐของท่านอย่างสง่างาม.

...

“ซูม”