วันนี้ กนง.คณะกรรมการนโยบายการเงินแบงก์ชาติ จะมีการประชุมเรื่อง อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% โดยกูรูเศรษฐศาสตร์และการเงินต่างฟันธงว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ท่ามกลางแรงกดดันจาก ผู้ส่งออกรายใหญ่ และ กระทรวงการคลัง ที่ต้องการ ให้ลดดอกเบี้ย เพื่อการส่งออกและกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ดูเหมือน ธนาคารแห่งประเทศไทย จะยืนยันในหลักการเดิม
หากย้อนกลับไปดู เหตุผลของ กนง. ที่ให้คงดอกเบี้ย 1.5% ในเดือนสิงหาคม ผมคิดว่าน่าจะเป็นคำตอบที่เหมือนกัน สำหรับเหตุผลการไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนนี้ เดือนที่แล้ว กนง.ให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จากการส่งออกที่ขยายตัวในหลายกลุ่มสินค้า (ทำสถิติสูงสุดในรอบ 6 ปี) ภาวะการเงินก็ผ่อนคลาย เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องก็อยู่ในระดับสูง ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้น ทั้งสินเชื่อจากสถาบันการเงินและตลาดทุน
ก็ถือเป็นเหตุผลที่รับฟังได้
แต่ กระทรวงการคลัง ตั้งแต่ รัฐมนตรีคลัง ลงมาถึง ปลัดกระทรวงการคลัง กลับมีความเห็นต่างจากแบงก์ชาติ อยากให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศ
วันก่อน คุณวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ในเรื่องนี้ว่า ดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ถือว่าสูงมาก นักลงทุนระดับโลกที่เห็นช่อง จะเข้ามาหาผลตอบแทนจากส่วนต่าง สมมติว่ามีการระดมเงินจากญี่ปุ่นที่มีดอกเบี้ยติดลบ ถ้าเครดิตดีเอาเข้าอาร์พีแบงก์ชาติ 3 เดือน ก็ได้กำไรเยอะแล้ว เผลอๆเงินบาทแข็งค่าขายออกได้กำไรอีก ก็เป็นการมองในอีกแง่มุมหนึ่ง
คุณวโรทัย เปิดเผยด้วยว่า สองสัปดาห์ก่อน สศค. กับ แบงก์ชาติ ได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายค่าเงิน แบงก์ชาติยืนยันจะใช้เป้าหมายเงินเฟ้อในการดูแลเศรษฐกิจ แต่คลังค้านว่า ขณะนี้เป้าหมายเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ที่เงินเฟ้อ แต่อยู่ที่จีดีพีและการกระตุ้นการบริโภค เป้าหมายเงินเฟ้อตอนนี้หลุดกรอบไปแล้ว
...
คุณวโรทัย เปิดเผยถึงการถกที่เห็นต่างกับแบงก์ชาติว่า ตนถามว่า เงินเฟ้อเป็นตัวสะท้อนเศรษฐกิจจริงใช่หรือไม่ แบงก์ชาติตอบว่าใช่ แต่เราบอกว่าไม่ใช่ ทำไมไม่เดินไปที่จีดีพีหรือการบริโภค ตอนนี้กระบวนการเศรษฐกิจเปลี่ยนไปเยอะแล้ว การใช้นโยบายเงินเฟ้ออาจจะไม่ได้ผลเลย ผมว่าถ้าเงินเฟ้อขึ้นไป 3% ก็ไม่เดือดร้อน เมื่อดูในตะกร้าเงินเฟ้อ ตัวหลักจะเป็นหมวดอาหารและพลังงาน เวลานี้พลังงานไม่มีทางผลักดันเงินเฟ้อได้ ปีก่อนมีปัญหาหมวดอาหาร แต่ปีนี้ไม่มีปัญหา ฉะนั้นสองตัวนี้ไม่มีทางผลักดันเงินเฟ้อขึ้นได้แน่
คุณวโรทัย เสนอให้ ลดดอกเบี้ยลง 0.5% เหลือ 1% โดยเห็นว่า การใช้นโยบายการเงินดูแลเศรษฐกิจจะเห็นผลเร็วกว่านโยบายการคลัง ที่ต้องใช้เวลา 3-6 เดือน
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต กนง. ก็เห็นต่างกับคลัง แต่เห็นด้วยกับแบงก์ชาติว่า การปรับลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีมากขึ้น ปัจจุบันดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว ลดไปก็ไม่ได้ช่วยคนฐานรากหรือรายย่อย แถมอาจทำให้เขาเดือดร้อน โดยเฉพาะคนที่พึ่งรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก คนที่ได้ประโยชน์ ก็คือ เศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ เศรษฐกิจขนาดย่อย ทั้งผู้ฝากและผู้ใช้เงินทั่วไป แทบไม่ได้อะไรเลย เวลาไปกู้เงิน รายย่อยก็ไม่ได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง เพราะแบงก์คิดดอกเบี้ยตามระดับความเสี่ยง แต่คนฝากเงินจะได้ดอกเบี้ยลดลง
ผมฟังแล้วก็มีเหตุผลหนักแน่นด้วยกันทั้งสองฝ่าย
เมื่อวานนี้ผมเพิ่งเขียนถึงกรณีที่ ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดคลัง ออกมาเปิดเผยว่า ยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปี มีเพียง 10 บริษัทที่ได้ประโยชน์ แต่เอสเอ็มอี (3 ล้านราย) ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย กรณี “ดอกเบี้ย” ก็เหมือนกัน มีแต่รายใหญ่ได้ประโยชน์
รายย่อยไม่ได้ประโยชน์อะไร แล้ว นายกฯตู่ จะเลือกข้างไหน?
“ลม เปลี่ยนทิศ”