เมื่อวานนี้ผมเพิ่งเขียนเรียกร้องให้รัฐบาล “ปกป้อง” และ “ส่งเสริม” สตาร์ตอัพไทย อย่างจริงจังเป็นรูปธรรม เหมือนกับที่ รัฐบาลจีน ปกป้องและส่งเสริมสตาร์ตอัพจีนอย่าง อาลีบาบา เทนเซนต์ จนเป็นยักษ์ใหญ่ออกไปอาละวาดทั่วโลก แทนที่จะไปส่งเสริมบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ต่างชาติที่รวยแล้ว หวังให้เขามาช่วยอุ้มสตาร์ตอัพ เอสเอ็มอีไทย กว่าจะถึงวันนั้น ตลาดไทยและเพื่อนบ้าน ก็ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้น “กินรวบ” ไปหมดแล้ว คงไม่เหลืออะไรไว้ให้กับสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอีไทย

เขียนไปปุ๊บก็มีข่าวดีออกมาปั๊บทันที

หน้าเศรษฐกิจไทยรัฐ เมื่อวานนี้รายงานว่า คุณพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยผลการหารือกับ กระทรวงการคลัง อย่างเป็นทางการครั้งที่ 1 เพื่อออก พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ตอัพ มาช่วยเหลือสตาร์ตอัพไทยที่กำลังป้อแป้เต็มที มีแต่คำหวานจากรัฐบาล แต่ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ปกป้องสตาร์ตอัพไทย แถมยังต้องเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก อาลีเพย์ วีแชตเพย์ ไม่ต้องเสียภาษี

คุณพันธุ์อาจ บอกว่า การหารือครั้งนี้ต้องการ ให้กระทรวงการคลังแยกแยะความแตกต่าง ระหว่าง ธุรกิจสตาร์ตอัพ กับ เอสเอ็มอี ให้ชัดเจน เพื่อให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือให้ถูกจุด ตรงกับความต้องการของสตาร์ตอัพ

นิยามของธุรกิจ “สตาร์ตอัพ” ก็คือ ธุรกิจที่จดทะเบียนและก่อตั้งไม่เกิน 5 ปี มีการจ้างแรงงานที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี มีการลงทุนในลักษณะที่เป็นนวัตกรรม จะขอให้กระทรวงการคลัง ยกเว้นภาษีส่วนต่างของกำไร (Capital Gain) จากการขายหุ้นที่ลงทุนในสตาร์ตอัพ ภายในระยะเวลาลงทุนไม่เกิน 5 ปี เพื่อให้มีผู้สนใจเข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพมากขึ้น ส่วน เจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัพ ปัจจุบันกรมสรรพากรได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในระยะเวลา 5 ปี อยู่แล้ว

...

คุณพันธุ์อาจ บอกว่า ก่อนหน้านี้ คุณสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ประกาศว่าจะรีบนำกฎหมายดังกล่าวเข้า ครม.โดยเร็วที่สุด จะขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจ ม.44 เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในปีนี้ เนื่องจากธุรกิจสตาร์ตอัพมีความเสี่ยงสูง เช่น ลงทุนใน 10 ธุรกิจ อาจขาดทุนไป 8 ธุรกิจ เหลือกำไรแค่ 2 ธุรกิจ เป็นต้น

ผมเห็นด้วยกับ คุณพันธุ์อาจ และ คุณสมชัย ว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเร่งส่งเสริมสตาร์ตอัพไทยให้เกิดเสียที รัฐบาลพูดมาหลายปีแล้ว แต่สตาร์ตอัพไทยก็ไม่เกิด ขนาด ก.ล.ต. เปิดแซนด์บ็อกซ์ ให้เข้าไปทดสอบ ยังไม่มีสตาร์ตอัพไปทดสอบแม้แต่รายเดียว มีแต่สตาร์ตอัพยักษ์ใหญ่ต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเสนอไปเมื่อวานนี้ก็คือ การเก็บภาษีบริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ที่เข้ามาทำมาหากินในบ้านเราอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูบ อาลีเพย์ วีแชตเพย์ แต่ไม่เคยเสียภาษีให้เมืองไทย ไปจ่ายค่าสินค้าและโฆษณากันในต่างประเทศ

เฉพาะโฆษณาใน กูเกิล เฟซบุ๊ก สองราย สมาคมโฆษณาดิจิทัลประเทศไทย รายงานว่า ยอดโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล ปี 2559 รวม 9,477 ล้านบาท เฟซบุ๊ก อันดับ 1 แบ่งไป 2,711 ล้านบาท รองมา ยูทูบ (เครือกูเกิล) แบ่งไป 1,526 ล้านบาท ปี 2560 คาดว่างบโฆษณาจะใช้กับ เฟซบุ๊ก 3,165 ล้านบาท ยูทูบ 2,100 ล้านบาท

แต่ เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) ลงงบการเงินปี 58 มีรายได้แค่ 7.13 ล้านบาท กำไร 3.82 ล้านบาท ภาษี 1.31 ล้านบาท กูเกิล (ประเทศไทย) ลงงบการเงินปี 59 รายได้ 535.34 ล้านบาท กำไร 19.87 ล้านบาท ภาษี 20.25 ล้านบาท ไลน์ (ประเทศไทย) รายได้ 137.80 ล้านบาท ขาดทุน 211.61 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี สวนทางกับรายได้มหาศาลของบริษัทแม่

ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ รัฐบาลไทย จะต้องออกมา “ปกป้อง” และ “ส่งเสริม” ให้ ธุรกิจสตาร์ตอัพไทย ได้เกิดอย่างจริงจังเสียที ก่อนที่จะ “ไม่มีโอกาสเกิด” ในอนาคต เพราะถูกต่างชาติกินรวบหมด และ สตาร์ตอัพไทยตายหมด เสียก่อน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”