ทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวไปเร็วมาก องค์กรใหญ่ๆรวมถึงภาครัฐ พากันปรับตัวขนานใหญ่เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี “ไอโอที” (IoT: Internet of Things) ซึ่งเป็นบริการอัจฉริยะ (Smart Service) ที่ใช้อินเตอร์เน็ตเชื่อมข้อมูลสื่อสารระหว่างกัน
หลายประเทศใช้ไอโอทีกับงานในหลายภาคส่วนมาพักใหญ่แล้ว เช่นอุตสาหกรรมการเกษตร ใช้เทคโนโลยีไอโอทีเป็นตัวเซ็นเซอร์วัดระดับความชื้นในดินและพื้นที่เพาะปลูก ดึงข้อมูลไปโชว์บนสมาร์ทโฟน ชาวสวนจะรู้ได้ทันทีว่าพื้นที่นั้นควรเติมน้ำเติมปุ๋ยมากน้อย เท่าไหร่ จะให้ผลผลิตเมื่อไหร่ ในอุตสาหกรรมพลังงานก็ใช้ไอโอทีตรวจสอบท่อส่งก๊าซและท่อน้ำประปา เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนกรณีชำรุดเสียหาย ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน แถมแม่นยำอีกต่างหาก
บริษัทห้างร้านต่างๆนำเอาไอโอทีไปใช้ใน ระบบอาคารอัจฉริยะ (Smart Building) ติดตั้งเซ็นเซอร์ควบคุมการเข้าออกของพนักงาน ระบุตัวตนพร้อมบันทึกเวลาทำงานแบบอัตโนมัติเมื่อเข้าสู่ บริเวณอาคาร ภาครัฐบางประเทศใช้ไอโอทีในการพัฒนา ระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ติดตั้งเซ็นเซอร์ตามถนนและแยกไฟจราจร เพื่อเก็บข้อมูล ประมวลผลและบริหารการจราจรในแต่ละเส้นทางแบบอัตโนมัติ ขณะที่บริษัทรถยนต์ค่ายใหญ่ก็ใช้เทคโนโลยีไอโอทีไปผลิต รถยนต์ไร้คนขับ พาผู้โดยสารถึงจุดหมายอย่างรวดเร็วและปลอดภัย
หลายเดือนก่อนมี บริษัทรถยนต์ค่ายใหญ่ทั้งยุโรปและญี่ปุ่น ติดต่อไปยัง กสทช. สอบถามข้อมูลการยื่นขอใช้ คลื่นย่าน 920–925 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อจะนำไปทดลองใช้กับรถยนต์รุ่นใหม่ ผมยังแอบเชียร์อยากให้ค่ายยักษ์ใหญ่มาลงทุนรถยนต์ไร้คนขับในเมืองไทยจริงๆเถอะ อย่าเพียงแค่ถามข้อมูลแล้วหายไปเลย
กระทั่งปลายเดือนที่แล้ว สำนักงาน กสทช.ได้เสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช. ขออนุมัติใช้คลื่นความถี่ย่าน 920-925 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับเทคโนโลยีไอโอที และ ให้นำประกาศกสทช.ที่เกี่ยวกับการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวจำนวน 3 ฉบับไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
...
ประกาศ 3 ฉบับได้แก่ 1.เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 920-925 เมกะเฮิรตซ์ 2.เรื่องมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมประเภทอาร์เอฟ ไอดี (คลื่น radio frequency identification ที่ใช้ควบคุมประตูทางเข้าร้านค้า หมู่บ้าน รถยนต์ เป็นต้น) 3.เรื่องมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมที่ไม่ใช่ ประเภทอาร์เอฟไอดี และแนวทางการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อรองรับการใช้งานในลักษณะไอโอที
จากข้อมูลสถิติของบริษัท IBM พบว่าปัจจุบันทั่วโลกมีอุปกรณ์ไอโอทีที่เชื่อมต่อกันกว่า 13,000 ล้านชิ้น คาดการณ์ว่าภายในปี 2562 การใช้งานอุปกรณ์ไอโอทีในหลายภาคส่วนจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจโลกถึง 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 58 ล้านล้านบาท ซึ่งหากไทยก้าวทันตามกระแส จะช่วยปลุกเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องไปอีกเกือบสิบปี
ผมไปค้นดูแผนงานที่ กสทช.จะดำเนินการ เจอข่าว คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า กสทช.มีแผน จัดสรรคลื่นเพิ่มอีก 380 เมกะเฮิรตซ์ ภายในปี 2563 และเตรียม จัดการคลื่นที่ไม่มีการใช้งานหรือขาดประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับตลาด และล่าสุด กสทช.ได้ติดตั้ง อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศตามโครงการเน็ตประชารัฐให้กับหมู่บ้านชายขอบ คาดว่ากลางปี 2561 จะแล้วเสร็จทั้งหมด
หากทุกหมู่บ้านเข้าถึงอินเตอร์เน็ตบอร์ดแบนด์ได้แล้ว เมื่อไปรวมกับบริการ 3 จี 4 จี ที่ครอบคลุมทุกจังหวัด ประเทศไทยก็จะมีความพร้อมสำหรับบริการเทคโนโลยีไอโอทีได้สบาย.
ลมกรด