คงจะทราบกันแล้วนะครับว่า พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หลังจากได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาครบ 180 วันแล้ว

ถือเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่มีการแก้ไขสาระสำคัญ โดยการรวมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกขาดกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เข้าด้วยกัน และจะมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนให้หน่วยราชการ บริษัทห้างร้าน หรือนิติบุคคลที่รับผู้กู้ยืมเงินทุนเข้าทำงาน ต้องหักเงินเดือนจากพนักงานดังกล่าวไว้ด้วย

เพื่อจะนำมาส่งคืนให้แก่กระทรวงการคลังเหมือนๆกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายของเงินเดือนพนักงานในแต่ละเดือน

มีรายละเอียดมากมายหลายข้อที่ผมไม่สามารถจะคัดลอกมาลงในคอลัมน์นี้ได้มากไปกว่านี้

ท่านที่สนใจในรายละเอียดก็ลองไปเปิด พ.ร.บ.ฉบับนี้ดูได้ ค้นเอาจากกูเกิลก็ได้ครับ

คงจะทราบกันแล้วว่า เหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้ เป็นเพราะที่ผ่านมา นักเรียน นักศึกษาที่กู้เงินจากกองทุนไปเรียนต่อปรากฏว่า เมื่อเรียนจบแล้วไม่ยอมนำเงินมาชำระกองทุน

ทำให้มียอดสะสมค้างชำระอยู่ถึง 90,000 ล้านบาท ทำให้ขาดแคลนเงินที่จะไปช่วยเหลือเยาวชนรุ่นต่อๆไปได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และเต็มตามจำนวนเป้าหมายที่ตั้งไว้

ตลอดเวลากว่า 20 ปี กองทุนดังกล่าวนี้ช่วยเหลือเยาวชนไทยให้มีโอกาสเรียนต่อจนถึงขั้นจบปริญญาตรีกว่า 8 ล้านคน

ปรากฏว่า เพียง 3.2 ล้านคนเท่านั้น ที่ใช้หนี้คืนแก่รัฐ โดยปฏิบัติ ตามเงื่อนไขต่างๆที่ทำสัญญาไว้กับกองทุน

ส่วนที่หายไปเป็นจำนวนมากมายมหาศาลนั้น ก็หายไปอย่างชนิดตามตัวไม่เจอเลยจริงๆ สามารถติดตามฟ้องร้องได้ประมาณ 1 ล้านคนเท่านั้นเอง

กระทรวงการคลังเจ้าของกองทุนจึงต้องตัดสินใจยกเครื่องกฎหมายฉบับนี้ขนานใหญ่ เพื่อติดอาวุธให้กับทางราชการในการที่จะหาทางทำให้เยาวชนที่กู้เงินเรียนกลับมาชำระเงินในที่สุด

...

แต่ลงท้ายแล้วจะตามเงินกู้ยืมมาได้มากน้อยแค่ไหนก็คงจะต้องลุ้นกันต่อไป

เพราะหากคนเราจะตั้งใจเบี้ยวก็คงจะเบี้ยวไปโดยตลอด

คนที่เข้าทำงานในองค์กรหรือบริษัทห้างร้านที่อยู่ภายใต้ระบบภาษีอยู่แล้ว อาจจะเบี้ยวไม่ได้ เพราะจะโดนหักเงินเดือนแบบหักภาษี ณ ที่จ่ายเลยตามกฎหมายใหม่

แต่ผู้ที่จบแล้วไปทำงานส่วนตัว หรือไปทำงานที่ยังไม่อยู่ในระบบภาษี เช่น การค้าปลีกค้าย่อยต่างๆ ก็อาจจะหลบหนีได้ต่อ

ทางหนึ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปกับกฎหมายฉบับนี้ก็คือการสร้างสำนึก สร้างความรับผิดชอบของผู้กู้ยืมให้มากยิ่งขึ้น

สร้างความตระหนักให้ผู้กู้ยืมเห็นว่า เงินนี้เป็นเงินภาษีอากร เป็นเงินแผ่นดินที่จะต้องชำระคืน มิใช่เป็นเงินสวัสดิการที่จะให้ฟรีๆ

การสร้างจิตสำนึกและการเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปกับกฎหมายด้วยพร้อมๆกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะต้องพิจารณาแก้ไขคือ การให้เงินกู้ยืมนั้นควรจะเน้นไปในวิชาที่มีโอกาสจะหางานทำได้ในอนาคต เช่น วิชาชีพ ทางด้านเทคนิค หรือทางสายวิทยาศาสตร์ มากกว่าทางสายสังคมศาสตร์ ที่หางานยากมาก

เพราะหากผู้กู้ยืมยืมเงินไปเรียน ในวิชาที่หางานทำยาก เรียนจบแล้วตกงานก็ย่อมไม่มีปัญญาใช้เงินนั้นได้อยู่ดี

จริงๆแล้วในการปฏิบัติคงจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอีกมาก ควรจะพิจารณาหาทางแก้ไขควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดผลสำเร็จมากกว่าการใช้กฎหมายบังคับเพียงอย่างเดียว

เฮ้อ! สรุปแล้วเมืองไทยเรานี่เหมือนกับเมืองถูกสาปนะครับ คิดอะไรดีๆออกมาสักอย่าง เวลาลงมือทำแล้วกลับผิดเพี้ยนไปซะอย่างนั้นแทนที่จะเป็นผลดีกลับกลายเป็นผลร้ายหรือเป็นปัญหาไปเสียฉิบ

ใครจะนึกล่ะว่า โครงการดีๆเต็มไปด้วยความปรารถนาดีที่จะช่วยเหลือเจือจานลูกหลานของประชาชนคนไทยให้มีโอกาสเรียนหนังสือสูงๆ จะกลายเป็นโครงการที่มีปัญหาถึงขนาดนี้.

“ซูม”