แม้ว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 แต่ทราบจากการกีฬาแห่งประเทศ ไทย (กกท.) ว่ายังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง น่ากังวลอยู่คือ การดำเนินการจดแจ้งสมาคม สโมสร และการจดแจ้งนักกีฬา บุคลากร ปัจจุบันยังดำเนินการล่าช้า นักกีฬา บุคลากรกีฬาอาชีพที่เกี่ยวข้อง ยังไม่เข้าใจเหตุผล ไม่ให้ความสำคัญมากพอ จึงขอใช้โอกาสนี้ บอกเล่าถึงความจำเป็นอีกครั้ง
การจดแจ้งสมาคม สโมสร และนักกีฬา บุคลากรตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 กำหนด เปรียบเสมือนการขึ้นทะเบียนบุคลากรกีฬาอาชีพในทุกมิติอย่างเป็นระบบ เมื่อใดก็ตามที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมจะได้สิทธิคุ้มครองอย่างถูกต้องเช่นกัน
ในทางกลับกัน หากนักกีฬา บุคลากรกีฬาอาชีพ ละเลยการขึ้นทะเบียนตัวเอง ย่อมจะเสียสิทธิใดๆก็ตาม ที่กฎหมายให้การคุ้มครองไว้!!!
ขั้นตอนการยื่นขอจดแจ้ง เพียงแค่นักกีฬา บุคลากรกีฬาอาชีพสำรวจตัวเองว่ามีคุณสมบัติตรงตามที่ กกท.กำหนด คือ ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่องในศีลธรรมอันดี, ไม่อยู่ระหว่างรับโทษตัดสิทธิในการเข้าแข่งขันกีฬา เนื่องจากความรับผิดเกี่ยวกับการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา การลงโทษอย่างอื่น, ไม่อยู่ระหว่างการถูกลงโทษให้พักการแข่งขันจากสหพันธ์กีฬา สมาพันธ์กีฬา องค์กรกีฬาชนิดนั้นๆ, ไม่เคยรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล หรือเคยรับโทษจำคุก พ้นโทษไม่น้อยกว่า 2 ปี, ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติด
ช่องทางการขึ้นทะเบียน ทำได้ที่ กกท.ประจำจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่ กกท.ส่วนกลาง หรือแจ้งผ่านระบบสารสนเทศ (ไอที) www.thaipsl.com เอกสารมี สำเนาบัตรประจำตัว เอกสารที่ทางราชการออกให้, สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาสัญญาจ้าง หนังสือรับรองจากสโมสรกีฬาอาชีพ, หนังสือรับรองจากสมาคม, รูปถ่ายขนาด 4 คูณ 6 ซม.
...
ทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพ และกีฬามวย กกท. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นักกีฬา บุคลากรที่จะขอจดแจ้ง ต้องอยู่ใน 13 ชนิดกีฬาที่ กกท. กำหนด ได้แก่ กอล์ฟ, จักรยาน, แข่งรถยนต์, สนุ้กเกอร์, โบว์ลิ่ง, เจ็ตสกี, จักรยานยนต์, แบดมินตัน, เทนนิส, ฟุตบอล, ตะกร้อ, วอลเลย์บอล และบาสเกตบอล
และหลังจาก กกท. ประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางให้ผู้เกี่ยวข้องมาจดแจ้ง สมาคม สโมสรกีฬาอาชีพ มาจดแจ้งเกือบครบ ขาดเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่น่าเป็นห่วง การจดแจ้งนักกีฬา บุคลากรกีฬาอาชีพ สิ้นสุดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากนักกีฬาอาชีพ 13 ชนิดกีฬา 5,000 คน มีมาขึ้นทะเบียนแค่ 1,000 กว่าคน คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก
สาเหตุหลัก คือ การละเลย ไม่ให้ความสำคัญ เพราะยังไม่มีเรื่องเดือดร้อนจนต้องมาพึ่งกฎหมาย
อีกประการคือ การเกรงกลัวเรื่องการต้องเสียภาษี เพราะการจดแจ้ง ต้องมีการแสดงรายได้ต่างๆ จึงทำให้ลืมนึกไปว่า กฎหมายจะคุ้มครองในทุกกรณีหากเกิดข้อพิพาท ร้องเรียนต่างๆ ซึ่งหากบุคลากรกีฬาอาชีพไม่จดแจ้งไว้ก่อน นายทะเบียนอย่าง กกท. ก็ไม่สามารถให้การช่วยเหลือทางกฎหมายใดๆได้เลย
นอกจากเสียสิทธิทางกฎหมาย ผลพลอยได้ต่างๆที่จะตามมา ก็จะเสียสิทธิไปโดยปริยาย
เช่น กกท.จะมีงบประมาณค่าตั๋วเครื่องบิน ที่พัก อาหาร เบี้ยเลี้ยงให้นักกีฬาอาชีพที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจาก กกท. ในการให้การสนับสนุนไปแข่งขัน เพื่อทำแรงกิ้ง เมื่อไม่จดแจ้งก็จะไม่มีการพิจารณาให้
หรือการประชุมอบรมโค้ชฟุตบอลระดับโปรไลเซนส์ หากจดแจ้งเป็นบุคลากรกีฬาอาชีพ ภาครัฐจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายการเรียน 250,000 บาท จากค่าเรียนที่โค้ชต่างๆ ที่มาอบรมต้องจ่ายคนละ 500,000 บาท ซึ่งอยากให้ทุกคนเข้าใจจุดนี้ว่า รัฐหวังดี ต้องการช่วยเหลือบุคลากรกีฬาอาชีพในทุกกลุ่ม เพียงแต่ให้มาจดแจ้งให้เรียบร้อยเท่านั้น
เรียกได้ว่า การจดแจ้งนักกีฬา บุคลากรกีฬาอาชีพ มีความสำคัญอย่างมาก หากไม่เห็นความสำคัญ ย่อมทำให้เสียสิทธิต่างๆที่ควรจะได้รับจากพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556
นี่เป็นข้อมูลล่าสุดที่เกิดขึ้น และอยากสะท้อนให้เห็นว่าข้อดีเป็นอย่างไร
จะเสียสิทธิไปมากแค่ไหน หากยังละเลย...
ฟ้าคำราม