นับตั้งแต่ได้สัมปทานลงทุนรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยเมื่อ 25 ปีที่แล้ว เส้นทางของ “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าพ่อรถไฟฟ้า ได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ล้มลุกคลุกคลาน ผ่านวิกฤติ และเผชิญปัญหา ต่างๆมาอย่างโชกโชนกว่าจะ ถึงวันนี้

วันที่อาณาจักร “บีทีเอส กรุ๊ป” มีการพัฒนาธุรกิจที่ถือได้ว่าโดดเด่นชัดเจนที่สุด!

โดย “คีรี” ยอมรับว่า ปีนี้ถือเป็นปีแห่งโอกาส หลังจากที่ต้องทำงานหนักและสั่งสมประสบการณ์มาตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคว้าสัมปทานลงทุน “โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู” และ “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” มูลค่ารวมกว่า 100,000 ล้านบาทที่ถือเป็น “บิ๊กโปรเจกต์” ที่ “คีรี” หมายมั่นปั้นมือว่าต้องคว้าโอกาสมาให้ได้ แม้ต้องรอคอยมาอย่างยาวนานถึง 25 ปี

ยังไม่นับรวมสัมปทานบริการเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ และสายสีเขียวใต้ ที่เป็นเส้นทางต่อเนื่องรถไฟฟ้าบีทีเอสเดิม ขณะที่ธุรกิจในเครือบีทีเอสอีก 3 กลุ่มก็มีการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดได้อย่างเด่นชัด หลังจากมีการ “จัดทัพ” ปรับโครงสร้างเมื่อ 1-2 ปีก่อนทำให้มีการสยายปีกเข้าซื้อกิจการ และจับมือกับพันธมิตร เพื่อต่อ “จิ๊กซอว์” ต่อยอดธุรกิจอย่างครบวงจร

“ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสเปิดใจ “คีรี กาญจนพาสน์” ถึงความสำเร็จของอาณาจักร “บีทีเอส กรุ๊ป” ในวันนี้และเป้าหมายในอนาคตที่ดูเหมือนว่า “บีทีเอส กรุ๊ป” จะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ :

...

ทะยานสู่ผู้นำรถไฟฟ้าครบวงจร

“คีรี” เริ่มต้นบทสนทนากับเรา โดยระบุว่า “บีทีเอส กรุ๊ป” เป็นบริษัทเอกชนที่มีความตื่นตัวในการลงทุนมากที่สุด แต่การลงทุนจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีโอกาส “วันนี้โอกาสมาอยู่ในมือเราแล้ว หลังจากที่เฝ้ารอมาแสนนาน และไม่ใช่แต่ธุรกิจขนส่งมวลชนเท่านั้น แต่หมายถึงธุรกิจอื่นๆในกลุ่มด้วย”

โดย “บีทีเอส กรุ๊ป” ได้จัดกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ 1.ระบบขนส่งมวลชน 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3.ธุรกิจสื่อโฆษณา และ 4.ธุรกิจบริการ

ทั้งนี้ “คีรี” ได้ฉายภาพธุรกิจขนส่งมวลชนว่า หลังก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 45,764 ล้านบาท และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.5 กม.วงเงินลงทุน 43,104 ล้านบาท ที่จะใช้เวลาก่อสร้าง 39 เดือนจากนี้

เมื่อรวมกับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า สายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต) และสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ซึ่งมีระยะทางรวมกัน 30.8 กม. จะทำให้ในปี 2563 บีทีเอสจะเป็นเจ้าของเครือข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีระยะทางรวมกันกว่า 132 กม. จากปัจจุบันที่ให้บริการเพียง 36.3 กม.เท่านั้น “ถือเป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ไม่เพียงให้บริการผู้โดยสารในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลถึงกว่าวันละ 2 ล้านคน ยังเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการค้า อสังหาริมทรัพย์ หรือบริการด้านอื่นๆ!!!”

นอกจากรถไฟฟ้า 3 สายทางข้างต้น ในปีนี้และปีหน้าที่รัฐบาลจะเปิดประมูลรถไฟฟ้าอีก 3-4 สายทาง กลุ่มบีทีเอสก็พร้อมจะโดดเข้าร่วมประมูลด้วย และมั่นใจว่ามีโอกาสที่จะชนะสูงมาก โดยเฉพาะสายสีเทาเฟส 1 (วัชรพล-ทองหล่อ) ระยะทาง 16.3 กม.และรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา LRT (บางนา-สุวรรณภูมิ) ระยะทาง 18.3 กม. เพราะล้วนมีเส้นทางที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายทางเดิมที่มีอยู่แล้ว “หากบีทีเอสเป็นผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 เส้นทางนี้ จะสามารถให้บริการเดินทางแบบไร้รอยต่อ อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้มากยิ่งขึ้น”

“คีรี” ยังยืนยันกับเราด้วยว่า ถ้ามีโอกาส บีทีเอส กรุ๊ป ก็พร้อมที่จะคว้ามันอีก “เรายังสนใจลงทุนระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าที่จะมีขึ้นทุกสาย รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง ทั้งในเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และเห็นด้วยว่า รัฐบาลควรเดินหน้าต่อ ยิ่งหากรัฐต้องการผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซีด้วยแล้ว เพราะถ้าไม่ทำวันนี้ วันหน้าก็ต้องทำอยู่ดีไม่ว่ารัฐจะให้ใครสร้าง ขณะเดียวกัน เรายังสนใจเข้าประมูลสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีส้มด้วย”

ทั้งนี้ เป้าหมายระยะยาวของบีทีเอสคือ เป็นผู้นำในการพัฒนาและให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดของประเทศ เพราะเรามั่นใจว่ามีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มากที่สุด รวมทั้งมีบุคลากรและเงินทุนที่พร้อม “นาทีนี้บอกได้เลยว่าเรื่องรถไฟฟ้าเราสู้ตายและธุรกิจระบบขนส่งมวลชนของบีทีเอสยังจะไปได้อีกไกล” ตอกย้ำความเป็นเจ้าพ่อรถไฟฟ้าตัวจริงเสียงจริง!!

พร้อมรุกอสังหาฯใน–ต่างประเทศ

สำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น “คีรี” กล่าวว่า ได้กำหนดกลยุทธ์ไว้อย่างชัดเจนในการรุกตลาดคอนโดตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า โดยได้จับมือกับ บมจ.แสนสิริ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือด้านนี้อยู่แล้ว โดยบีทีเอสมีที่ดินในมืออยู่แล้ว ขณะที่แสนสิริเป็นผู้ออกแบบพัฒนาโครงการแล้วขาย

...

โดยมีเป้าหมายร่วมกันใน 5 ปีนี้จะทำโครงการร่วมกัน 25 โครงการมูลค่ารวมกว่า 100,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้พัฒนาโครงการไปแล้ว 8 โครงการมูลค่า 30,000 ล้านบาท และปลายปีนี้จะเปิดคอนโดใหม่อีก 4 โครงการมูลค่ารวมกันกว่า 10,000 ล้านบาท “การร่วมมือกับแสนสิริถือ ว่าเดินมาถูกทางแล้ว ต่อไปนี้เราจะเริ่มรับรู้รายได้จากการโอนคอนโดที่สร้างเสร็จและขายหมดแล้ว พร้อมๆกับการเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ ซึ่งนอกจากคนไทยแล้ว ด้วยศักยภาพของเรายังสามารถนำพาลูกค้าชาวจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน มาซื้อโครงการด้วย”

ขณะเดียวกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บีทีเอสยังได้เข้าไปถือหุ้น 35.64% ใน บมจ.ยูซิตี้ หรือ “แนเชอรัลพาร์ค” เดิม โดยกำหนดให้ “ยูซิตี้” เป็นขาที่ลุยธุรกิจอสังหาฯเชิงพาณิชย์ที่สร้างรายได้ประจำ คือ อาคารสำนักงานให้เช่า เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และโรงแรมทั้งในและต่างประเทศ

โดยกลุ่มโรงแรมที่อยู่ภายใต้ปีกของยูซิตี้คือ โรงแรม U Sathorn Bangkok, U Chiang Mai, U Inchantree Kanchanaburi, โรงแรม Eastin Grand Sathorn เป็นต้น และในปีนี้ยูซิตี้ยังมีแผนผุดโครงการ “พญาไทคอมเพล็กซ์” พัฒนาที่ดิน 7 ไร่ติดสถานีบีทีเอสพญาไท เพื่อสร้างโครงการมิกซ์ยูส มูลค่า 6,000 ล้านบาท รวมทั้งสร้าง “หมอชิตคอมเพล็กซ์” พัฒนาที่ดินหมอชิตเก่า 10 ไร่ให้เป็นโครงการมิกซ์ยูส ทั้งยังมีแผนเข้าไปพัฒนาที่ดิน “ร้อยชักสาม” ของกรมธนารักษ์ให้เป็น “บูทีคโฮเต็ล” อีกด้วย!

สำหรับการรุกลงทุนต่างประเทศนั้น “คีรี” กล่าวว่า ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา “ยูซิตี้” ได้เข้าซื้อสำนักงานให้เช่ากลางมหานครลอนดอนไว้ 2 ตึก มูลค่ารวม 90 ล้านปอนด์ หรือราว 3,436 ล้านบาท และ ล่าสุดได้ทุ่มเงิน 330 ล้านยูโร เข้าไปถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ในบริษัทเวียนนา เฮ้าส์ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรม 21 แห่งในเมืองรองของยุโรปตะวันออกถึง 9 ประเทศ เช่น ฮังการี เช็ก ปราก โปแลนด์ เบอร์ลิน เป็นต้น และมีจำนวนห้องพักในมือมากกว่า 6,700 ห้อง โดยทุกเมืองเหล่านี้ต่างมีจุดขายในตัว

...

“เราเห็นโอกาสทางธุรกิจในเมืองท่องเที่ยวเหล่านี้ และเป็นการเข้าซื้อกิจการในช่วงที่เศรษฐกิจยุโรปยังไม่ดีนัก ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ต้องคว้าไว้เพราะซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม น่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้”

รุกต่อยอดธุรกิจสื่อโฆษณา–ดาต้า

อีกกลุ่มธุรกิจไฮไลต์ที่ “คีรี” พึงพอใจที่สุดกับการเติบโตอย่าง “ก้าวกระโดด” ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซานั่นก็คือ ธุรกิจโฆษณานอกบ้านที่ใช้ บมจ.วีจีไอ โกลบอล (VGI) เป็นหัวหอก โดยปัจจุบันวีจีไอเป็นเจ้าตลาดสื่อโฆษณานอกบ้านที่ใหญ่ และกินส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด

โดยไม่เพียงแต่ได้สัมปทานบริหารสื่อโฆษณาบนพื้นที่ทั้งหมดของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ในขบวนรถไฟฟ้าและตัวรถไฟฟ้าแล้ว “วีจีไอ” ยังยึดพื้นที่โฆษณาบนสำนักงานออฟฟิศกว่า 160 ตึกในเมืองและห้างค้าปลีกสมัยใหม่ รวมถึงสื่อโฆษณากลางแจ้งตามท้องถนน ในสนามบิน รวมถึงธุรกิจแจกสินค้าทดลอง การสาธิตสินค้า (Activation) “ชงชิม” ในซุปเปอร์มาร์เกตอีกด้วย

...

“ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งการลงทุน เพื่อมุ่งขยายเครือข่ายไปยังแพลตฟอร์มสื่อโฆษณานอกบ้านที่หลากหลายครบวงจร ทำให้วีจีไอสามารถปฏิวัติรูปแบบการขายสื่อจากเดิมที่เป็นเพียงผู้ให้เช่าพื้นที่โฆษณาไปสู่การเป็น “Data-Centric Media Hypermarket” ที่ครอบคลุม ทำให้รายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาปี 2559/60 (สิ้นสุด 31 มี.ค.60) เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อนเป็น 3,010 ล้านบาท และในปีนี้ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,000 ล้านบาท”

นอกจากสื่อโฆษณานอกบ้าน วีจีไอยังทำธุรกิจด้านดิจิทัล โดยได้เข้าซื้อ Rabbit Group ซึ่งประกอบธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “บัตรแรบบิท” และใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของ Rabbit ที่มีอยู่ถึง 9 ล้านใบและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ข้อมูลพฤติกรรมการจับจ่าย อายุเพศ สถานที่จับจ่ายของผู้ถือบัตรเหล่านี้ ถือเป็น “บิ๊กดาต้า” ที่สามารถนำมาวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อให้คำแนะนำลูกค้าในการใช้สื่อโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

ธุรกิจของ Rabbit Group นอกจากใช้เป็นบัตรผ่านเข้าออกใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้ว “บัตรแรบบิท” ยังเป็นเหมือนกระเป๋าเงินที่ใช้จ่ายผ่านบัตรในการซื้อสินค้าและบริการ โดยมีร้านค้าพันธมิตรกว่า 110 แบรนด์ ครอบคลุมจุดให้บริการมากกว่า 4,000 จุด และยังร่วมกับ “อิออน” ปล่อยเงินกู้ให้กับสมาชิกแรบบิทอีกด้วย โดยปัจจุบันอิออนปล่อยกู้ผ่านโครงการนี้แล้วกว่า 1,000 ล้านบาท

ล่าสุดยังได้ร่วมกับ LINE ตั้งบริษัททำ Rabbit LINE Pay คือบริการชำระเงินผ่านมือถือเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ LINE สามารถจ่ายเงิน โอนเงินหรือช็อปปิ้งกับร้านค้าที่ร่วมรายการ ด้วยฟังก์ชันกระเป๋าเงิน Rabbit LINE Pay (e-Wallet) อีกด้วย

ธุรกิจบริการ...ไม่ได้มาเล่นๆ

ในกลุ่มธุรกิจบริการนั้น “คีรี” บอกว่ามุ่งเน้นส่งเสริมธุรกิจของกลุ่มและส่งเสริมการเติบโตของรายได้ โดยมี 2 บริการหลักคือ ธุรกิจบริหาร จัดการโรงแรม และธุรกิจร้านอาหาร โดยธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมนั้นดำเนินงานผ่านบริษัทร่วมทุน “แอ๊บโซลูท โฮเท็ล เซอร์วิส จำกัด” หรือ “AHS” บริษัทบริหารจัดการโรงแรมที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในไทยเป็นผู้บริหารโรงแรมในแบรนด์ U และอีสติน มีจำนวนห้องพักภายใต้การบริหารมากถึง 9,350 ห้อง

ขณะที่ธุรกิจห้องอาหาร ChefMan ห้องอาหารจีนชั้นนำที่คนอยากไปทานมากที่สุดร้านหนึ่งนั้น มาจากความที่ชอบทานของดีของอร่อย จึงร่วมกับ “เชฟ ไว ยิน มาน” เชฟ ชื่อดังชาวจีนฮ่องกงมาเปิดสาขาในไทย ซึ่งล่าสุดขยายไปแล้วถึง 11 สาขา

“ที่สำคัญด้วยออเดอร์เป็ดย่างเชฟแมนที่ผลิตไม่ทัน จนเป็นอุปสรรคต่อการขยายสาขา ทำให้ต้องไปจับมือกับบริษัทผู้ผลิตเนื้อเป็ดที่มีคุณภาพระดับพรีเมียม อย่าง บมจ.บางกอกแร้นช์ (BR) โดยให้เข้ามาถือหุ้นกว่า 40% ในธุรกิจอาหาร ซึ่งนอกจากจะส่งวัตถุดิบเนื้อเป็ดให้ภัตตาคาร ChefMan อยู่แล้ว ยังมีแผนร่วมกันสร้างโรงงานพัฒนาเป็ดย่างเชฟแมนสำเร็จรูปส่งเป็นแคตตาริ่ง รวมถึงการส่งออกไปขายยังภัตตาคารต่างๆ ทั่วประเทศและทั่วโลกด้วย ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างคาดไม่ถึง”

********

จาก “รถไฟฟ้าแสนล้าน” มาจบลงที่ “ธุรกิจเป็ดย่าง” เจ้าพ่อรถไฟฟ้า “คีรี กาญจนพาสน์” ทิ้งท้ายกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า แม้ “บีทีเอส กรุ๊ป” จะทำธุรกิจหลากหลาย แต่จะเห็นได้ว่า การลงทุนและขยายธุรกิจของกลุ่มมุ่งเน้นเสริมประสิทธิภาพและการมี Synergy เพื่อต่อยอดธุรกิจระหว่างกัน

ทั้งหมดคือ “กุญแจแห่งความสำเร็จ” ในการสร้างอาณาจักรบีทีเอสกรุ๊ป ให้เติบโตอย่างยั่งยืน!!!

ทีมเศรษฐกิจ