หากจะเทียบกับชาวต่างชาติ แขกฝรั่งจีนที่เข้าสยาม ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ฝากรักฝากแค้นไว้มากกว่าชาติอื่นๆ (ภาสกร วงศ์ตาวัน พ่อค้า ขุนนาง โจรสลัด สำนักพิมพ์สยามบันทึก พ.ศ.2551)
คนญี่ปุ่นเข้าสยามกว่า 600 ปีที่แล้ว ด้วยความที่นิสัยสัตย์ซื่อมือถึง ใจถึง รักใครรักจริง ได้รับความไว้วางใจอยู่วงในราชสำนัก
ต้นรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ซามูไรญี่ปุ่น 280 คน บุกเข้าถึงพระเจ้าแผ่นดินยื่นคำขาดให้ส่งตัวสี่ขุนนาง
ออกญากรมนายไวย หัวหน้าทหารอาสาญี่ปุ่น ถูกประหารด้วยข้อหากบฏ นักรบญี่ปุ่นที่เป็นลูกน้อง ไม่เชื่อว่า ลูกพี่เป็นกบฏ แต่เรื่องไม่ง่าย ทหารพระเจ้าแผ่นดิน ทำได้เพียงป้องกันเจ้านาย แต่ก็ไม่กล้าปะทะกับทหารซามูไร
จึงต้องเจรจากันลงเอย ญี่ปุ่นยอมถอยลงเรือออกจากอยุธยา
แต่แทนที่จะมุ่งหน้ากลับบ้านตัวเอง กลับเลี้ยวหัวเรือบุกไปยึดเมืองเพชรบุรี อยุธยาส่งกองทัพไปปราบ ฆ่าญี่ปุ่นตายไปหลายคน ที่เหลือลงเรือหนี
งานนี้ของนักรบญี่ปุ่น แม้ฝากแผลใจพวกนี้ร้ายมาก แต่ก็ฝากรอยพิมพ์ใจ รักนายจริง นักรบญี่ปุ่นก็ยังได้เป็นทหารวงในราชสำนักเรื่อยมา
ปลายรัชกาล หัวหน้านักรบญี่ปุ่น ชื่อยามาดะ นางาซามะ ตำแหน่งออกญาเสนาภิมุข รับมอบหมายให้สนับสนุนพระราชโอรสพระเจ้าทรงธรรมเป็นกษัตริย์อยุธยาองค์ต่อไป
เวลานั้นทหารอาสาญี่ปุ่น มีถึง 600 คน จึงเป็นก้างขวางคอ ออกญาศรีวรวงศ์ ขุนนางใหญ่ ศัตรูสำคัญ ที่กุมอำนาจทางการเมือง
พระเจ้าทรงธรรมสวรรคต พระเจ้าเชษฐาธิราช พระราชโอรสพระชันษา 15 ปี ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยบารมีออกญาเสนาภิมุข
มีงานปลงศพบิดา ออกญาศรีวรวงศ์ ใหญ่โตเอิกเกริก เยี่ยงพระบรมศพกษัตริย์ พระเจ้าเชษฐาธิราชทรงพิโรธ วางแผนกำจัด แต่พลาดท่า ถูกฝ่ายออกญาศรีวรวงศ์จับสำเร็จโทษเสียก่อน
...
ด้วยความเกรงใจ ออกญาเสนาภิมุข...ออกญาศรีวรวงศ์ เชิญพระราชโอรสองค์ที่ 3 เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อไป พระนาม พระเจ้าอาทิตยวงศ์
เส้นทางการเมืองของออกญาศรีวรวงศ์ ยังมีออกญาเสนาภิมุขขวางทาง จึงมีแผนการกำจัดใช้ราชโองการปลดเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช สั่งให้ออกญาเสนาภิมุขไปเป็นเจ้าเมืองแทน
ออกญาศรีวรวงศ์สบโอกาสยึดอำนาจจับกษัตริย์น้อย พระเจ้าอาทิตยวงศ์สำเร็จโทษ แล้วขึ้นนั่งบัลลังก์อยุธยา พระนามพระเจ้าปราสาททอง
ออกญาเสนาภิมุขถูกวางยาพิษตาย ออกขุนเสนาภิมุขบุตรชายขึ้นเป็นเจ้านครแทน ไม่นานก็คิดการใหญ่ เตรียมกำลังโจมตีกรุงศรีอยุธยาหวังกำลังนักรบญี่ปุ่นอยุธยาหนุน
แต่อยุธยาแก้ลำ สั่งไล่ขุนนาง ยึดเรือพ่อค้าญี่ปุ่นออกจากสยาม
ขณะที่ในเมืองนครฯเองก็เริ่มตีรวน สุดท้าย ออกขุนเสนาภิมุขบุตรชาย ยามาดะ นางาซามะ ก็อยู่เมืองนครฯไม่ได้ต้องลงเรือลี้ภัยไปเขมร
ผมค้นเรื่องญี่ปุ่นมาเล่าเมื่อได้ข่าวงานพระราชทานเพลิงศพ คุณประพันธ์ เหตระกูล หนึ่งในผู้บริหารเดลินิวส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท
ยาคูลท์ฯที่วัดเทพศิรินทร์ เวลา 17.00 น. เสาร์ 15 ก.ค.นี้ครับ
ในวงสนทนา คุณประพันธ์เคยเล่า ตอนที่ญี่ปุ่นบุกไทย...ต้น ธ.ค.2484 หมอฟันญี่ปุ่นที่คุ้นเคย แปลงร่างเป็นทหารยศพันเอกมาหาคุณแสง บิดาคุณประพันธ์ที่สำนักงานถนนสี่พระยา
ผมฟังอย่างระทึกใจ ญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น คบค้าใครฝากไว้ทั้งความรักความแค้น ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน และไม่น่าเว้นกระทั่ง...สมัยนี้.
กิเลน ประลองเชิง