จากนี้ไป “เมล็ดแมงลัก” จะไม่ได้มีประโยชน์แค่เป็นอาหารเท่านั้น แต่จะกลายเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่แพ้สารสังเคราะห์ ไคโซตาน และแผ่นยางพาราสกัด หลังนักวิจัยคิดนอกกรอบ นำเมือกจากแมงลักมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับทำแผ่นแปะสกัดจากไพลแก้ปวด

รศ.ดร.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่า ด้วยผู้มีปัญหาปวดเมื่อยนิยมใช้แผ่นแปะบรรเทาเพื่อให้อาการปวดลดลง แต่ในบางรายจะมีอาการผดผื่นคัน เพราะแพ้แผ่นฟิล์มจากสารสังเคราะห์ แผ่นยางพาราสกัด และสารสกัดไคโตซานจากเปลือกกุ้งและปู ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้แผ่นปิดแก้ปวดที่นำเข้าจากต่างประเทศ

...

“ทีมวิจัยเริ่มศึกษา มีสารจากธรรมชาติชนิดใดบ้าง สามารถนำมาตั้งต้นทำแผ่นแปะทดแทน พบว่า เมล็ดเทียนเกล็ดหอย มีสารเมือกค่อนข้างมาก แต่ต้องสั่งเข้าจากอินเดีย อเมริกาเหนือ นิวซีแลนด์ ทำให้ต้นทุนสูง จึงมุ่งไปที่เมล็ดแมงลัก เนื่องจากพองตัวได้ดีกว่า วัตถุดิบในบ้านเรายังมีมาก และยังไม่มีใครนำสารเมือกจากแมงลักมาใช้ทำแผ่นแปะบรรเทาอาการปวด”

จึงเริ่มทำการศึกษาคิดค้น โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สนับสนุนทุนวิจัย...เริ่มจากนำเมล็ดแมงลักมาแช่น้ำให้พองตัว แล้วใช้ผ้าขาวบางบีบเอาเฉพาะสารเมือก เทใส่ถาดนำเข้าตู้อบให้แห้งแล้วบดให้เป็นผง เพื่อเก็บไว้ได้นานและง่ายต่อการนำมาทำเป็นส่วนผสม

จากนั้นศึกษาสมุนไพรที่มีฤทธิ์แก้ปวดในบัญชียาหลักแห่งชาติ พบว่า พริกและไพล มีสารออกฤทธิ์อยู่ในกลุ่ม phenylbutanoids มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ...จึงนำไพลผง 1 กก. มาผสมตัวทำละลาย นำ มาสกัดด้วยไมโครเวฟ 15 นาที จะได้สาร DMPD ปริมาณ 700 ml ที่มีคุณสมบัติลดการบวม มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ นำมากรองจะได้สารเพิ่มความยืดหยุ่นที่มีตัวยา เตรียมสำหรับใช้ทำส่วนผสมเก็บไว้ในอุณหภูมิ 4 องศา ได้นาน 2 ปี

ขั้นตอนสำคัญ นำผงเมือกแมงลัก, สารสกัดจากไพล, สารให้ความชุ่มชื้น และสารยืดหยุ่น กวนให้เข้ากัน ใส่ผสมตามข้อกำหนดบัญชียา นำมาเทให้เป็นแผ่นบางๆ อบอุณหภูมิ 50 องศา ในระยะเวลาที่เหมาะสม จะได้แผ่นแปะแก้ปวดจากสารสกัดจากไพลและสารเมือกจากเมล็ดแมงลัก ลักษณะสีเหลือง อุดมไปด้วยสารเคอร์คิวมินอยด์

นอกจากแก้ปวดเมื่อยยังมีคุณสมบัติ บำรุงผิว ต้านอาการแพ้ คัน ต้านอนุมูลอิสระ ต่างจากแผ่นแปะทั่วไปที่แกะแล้วผิวหนังเหี่ยวย่น.

เพ็ญพิชญา เตียว