สปท.ชงปฏิรูปศาล รธน.ให้เป็นอิสระ ป้องถูกวิจารณ์ 2 มาตรฐาน พร้อมติดดาบ กกต.เพิ่มอำนาจจับกุมโดยตรง เสนอแนวทางปฏิรูป ป.ป.ช.แก้งานอืด คดีความค้าง จนหมดอายุความ
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.59 นายวันชัย สอนศิริ กรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมาธิการได้สรุปรายงานการปฏิรูปการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการปฏิรูปองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีการเสนอปฏิรูปองค์กรอิสระที่น่าสนใจ อาทิ การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นอิสระอย่างแท้จริง หรือสองมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งอาจเกิดจากกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คุณสมบัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จำกัดอยู่ในบุคคลบางอาชีพ รวมทั้งบุคคลที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยตรงค่อนข้างน้อย อนุ กมธ.จึงมีข้อเสนอปฏิรูปคุณสมบัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ไม่ควรจำกัดเฉพาะกลุ่มสาขาบางอาชีพเท่านั้น ควรเปิดโอกาสให้กลุ่มอาชีพอื่นๆ ด้วย เพื่อให้การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเกิดมุมมองที่หลากหลายมิติ ไม่ใช่มีองค์ประกอบแค่ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ และผู้เคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการเพียงอย่างเดียว
นายวันชัย กล่าวต่อว่า ขณะที่การปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ผ่านมากกต.ไม่สามารถจัดเลือกตั้งให้เกิดประสิทธิภาพ ยังมีการซื้อสิทธิขายเสียงอยู่ค่อนข้างมาก โดยพบว่า การสอบสวนทุจริตเลือกตั้งจะทำได้ ต้องมีการร้องเรียนต่อกกต.ก่อน ทำให้การปราบทุจริตเลือกตั้งล่าช้า และพยานมักถูกข่มขู่ จ้างวานไม่ให้ไปให้การชั้นศาล จึงควรปฏิรูปการดำเนินงานของกกต. ให้กกต.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวน มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมีอำนาจตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมทางการเมือง จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยไม่ต้องมีหมายค้นหรือหมายจับในระหว่างที่มีการเลือกตั้ง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีเลือกตั้ง เพื่อให้พยานมั่นใจว่า จะปลอดภัยจากการเป็นพยานให้ กกต. ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนว่า ในช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการระหว่างการเลือกตั้ง หากรัฐบาลรักษาการจะแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งต้องขออนุญาตจาก กกต.ก่อนนั้น ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ตำแหน่งของข้าราชการที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกกต. ควรจำกัดเฉพาะข้าราชการระดับสูงเท่านั้น
...
นายวันชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.)นั้น พบว่า มักถูกวิจารณ์ว่า การทำหน้าที่ของป.ป.ช.มีความล่าช้า มีเรื่องค้างพิจารณาสะสมจำนวนมาก จนบางคดีหมดอายุความ ส่งผลให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยการทำหน้าที่ว่า มีลักษณะเอื้อประโยชน์ช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งในทางคดีหรือไม่ อนุกมธ.ได้เสนอแนวทางปฏิรูป ป.ป.ช.อาทิ การวางกลไกสอบสวนคดีทุจริตให้มีประสิทธิภาพ โดยจัดลำดับคดีตามความรุนแรงและความเสียหายจากการทุจริต การกำหนดระยะเวลาดำเนินการขั้นตอนไต่สวนแต่ละขั้นตอนของป.ป.ช.ให้ชัดเจน ตลอดจนการเพิ่มจำนวนบุคลากรให้เพียงพอสามารถทำงานได้ทันต่อจำนวนคดีทุจริต โดยรัฐต้องสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการให้องค์กรอย่างเพียงพอ โดยขั้นตอนหลังจากนี้คณะอนุกมธ.จะนำข้อเสนอการปฏิรูปการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเสนอต่อที่ประชุมสปท.การเมือง ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุม สปท. เพื่อให้ความเห็นชอบ และส่งให้ครม.นำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป