รอยัล ฟิลิปส์ ผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ เผยผลสำรวจ Healthy Living in Asia ซึ่งจัดทำร่วมกับบริษัทวิจัยชั้นนำอย่าง Kantar Profiles Network สำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 4,000 คน ในประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ เพื่อสำรวจถึงช่องว่างระหว่างการตรวจวัดผลสุขภาพกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยขับเคลื่อนกระแสดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน หลังพบยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับข้อมูลการตรวจวัดสุขภาพ

ผลสำรวจพบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลักดันให้เกิดความสนใจในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันอย่างมาก โดยเกือบ 1 ใน 3 หรือ 30% มีการใช้อุปกรณ์เพื่อการดูแลสุขภาพส่วนบุคคลมากกว่าตอนก่อนเกิดโควิด สำหรับในประเทศไทยกลุ่มตัวอย่างส่วนมากมีการตรวจวัดด้านสุขภาพอย่างน้อยเดือนละครั้ง เกี่ยวกับสุขภาพหัวใจ (47%) สุขภาพช่องปากและฟัน ( 36%) ตรวจวัดคุณภาพการนอนหลับ (45%) และคุณค่าทางโภชนาการ (42%)

อย่างไรก็ตาม แม้เทรนด์การตรวจวัดสุขภาพจะเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่กลุ่มตัวอย่าง 16% บอกว่าแทบไม่เคยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับผลวัดสุขภาพ และ 9% ไม่เคยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลย ขณะที่ 40% บอกมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ แต่ยังรู้สึกว่าทำได้มากกว่านี้

...

ผลสำรวจบ่งชี้ หลังการแพร่ระบาดของโควิด กว่า 40% ของกลุ่ม Young Millennials ที่มีช่วงอายุ 26 ถึง 30 ปี มีการใช้อุปกรณ์และเทคโน โลยีเพื่อการดูแลสุขภาพส่วนบุคคลมากขึ้น ขณะที่ 70% ของกลุ่ม Gen X และ Baby Boomers ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่ม Baby Boomers ที่อยู่ในช่วงอายุ 56-65 ปี มีความตื่นตัวเป็นพิเศษ ทั้งค้นหาข้อมูลออนไลน์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญสม่ำเสมอ โดย 74% ของกลุ่มตัวอย่างในไทยบอกว่า พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ หากสามารถเข้าถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพส่วนบุคคลได้

ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า 47% ของกลุ่มตัวอย่างในไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ มองว่าคำแนะนำของแพทย์เป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่สุดต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดย 51% ในไทยบอกมีแนวโน้มเปลี่ยน หากได้รับคำแนะนำจากแพทย์ อย่างไรก็ตาม มีเพียงส่วนน้อยที่เปิดเผยข้อมูลการตรวจวัดสุขภาพแบบดิจิทัลกับแพทย์และผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากกังวลถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูล, ขาดความรู้ในการแชร์ข้อมูล เป็นต้น

นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพที่ดีในระยะยาว โดยผลสำรวจในประเทศไทยพบว่า การรายงานผลตรวจวัดสุขภาพบนอุปกรณ์เพื่อการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล (49%) และการออกแบบอุปกรณ์เพื่อการดูแลสุขภาพส่วนบุคคลให้สามารถแสดงผลข้อมูลให้เข้าใจง่าย ( 51%) เป็นปัจจัยสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพ

นายเมียร์ เคียร์ Business Leader กลุ่มธุรกิจ Personal Health ฟิลิปส์ เอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า ในปี 2023 เป็นต้นไป การสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีการนำข้อมูลด้านสุขภาพ ไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพเชิงรุกนับว่ามีความสำคัญยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น นวัตกรรมแปรงสีฟันไฟฟ้าที่สามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน เพื่อให้คำแนะนำและการแปรงฟันแบบเฉพาะบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิเคราะห์พฤติกรรมและแนวโน้มการแปรงของผู้ใช้งานได้โดยตรง.