Opensignal บริษัทวิเคราะห์ระบบมือถือ วิเคราะห์ตำแหน่งคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้งสามรายในประเทศไทย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ทั้งช่วงก่อนและหลังการประมูลคลื่น 5 จี เพื่อทำความเข้าใจว่าการนำคลื่นความถี่ใหม่มาปรับใช้นั้น มีผลต่อคุณภาพเครือข่ายอย่างไร

ทั้งนี้ หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้จัดงานประมูลคลื่น 5 จี ขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2563 เอไอเอสได้คลื่นความถี่แบรนด์ 41 (TDD, 2600 MHz) รวม 100 MHz (10 ใบอนุญาต) และทรูมูฟเอช ได้รวม 90 MHz (9 ใบอนุญาต)

Opensignal พบว่า ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2563 ทั้งเอไอเอสและทรูมูฟเอช ได้ใช้คลื่น 2600 MHz ที่ได้มาใหม่จำนวน 20-40 MHz สำหรับให้บริการ 4 จีในบางพื้นที่

ทำให้ผู้ใช้คลื่นความถี่ Band 41 ได้รับประสบการณ์ความเร็วในการดาวน์โหลด 4 จี ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดทั้งบนเครือข่ายของเอไอเอสและทรูมูฟเอช มีความเร็วดาวน์โหลดเฉลี่ยที่ 14.1 Mbps และ 18.4 Mbps ตามลำดับ โดยผู้ใช้ที่เชื่อมต่อบนคลื่นความถี่สูงกว่า มักจะได้รับประสบการณ์การใช้งานรวดเร็วกว่าผู้ใช้ในย่านความถี่ต่ำ เนื่องจากมีแบนด์วิดท์มากกว่า

ทั้งนี้ จากการประเมินการถือครองคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในไทยแต่ละราย พบว่าก่อนการประมูลคลื่น 5 จี ดีแทคใช้คลื่นความถี่สูงสุด (90 MHz) สำหรับบริการ 4 จี ตามด้วยเอไอเอส (80 MHz) และทรูมูฟเอช (70 MHz) ตามลำดับ อย่างไร ก็ตาม หลังการประมูลสิ้นสุด เอไอเอสและทรูมูฟเอช นำคลื่นความถี่ Band 41 ใหม่ไปใช้ในการให้บริการ 4 จีเพิ่มเติมระหว่าง 20 ถึง 40 MHz (ปริมาณขึ้นอยู่กับพื้นที่) ทำให้ปริมาณการใช้คลื่นเพื่อให้บริการ 4จีทั้งหมด สูงขึ้นเป็น 120 MHz และ 110MHz ตามลำดับ ขณะที่คลื่น 4จีของดีแทคไม่มีการเปลี่ยนแปลง

...

จากการตรวจสอบเพิ่มเติม Opensignal พบอีกว่า เอไอเอสนำคลื่นความถี่ไปใช้เฉพาะในจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่น เช่น กรุงเทพมหานคร ขณะที่การใช้งานคลื่นของทรูมูฟเอชมีขอบเขตที่กว้างกว่า

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ 5 จีในประเทศไทยยังอยู่ในจุดเริ่มต้น จึงน่าจะเร็วเกินไปที่จะสรุป อนาคต แต่การใช้งานเครือข่ายอย่างหนักหน่วง หนาแน่นของคนไทย ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเร็วในการดาวน์โหลดต่ำ เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ผู้ให้บริการจึงจำเป็นต้องสร้างสมดุลการใช้ทรัพยากรนี้ ระหว่างผู้ใช้ 5 จีใหม่และผู้ใช้ 4 จี ที่เป็นกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

Opensignal รายงานว่า เทคโนโลยี 5 จี ช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงคลื่นความถี่ใหม่ ที่บรรเทาความแออัดของการใช้งาน ตัวอย่างเช่น การประมูลคลื่นความถี่แบบ mmWave ในย่านความถี่ 26 GHz ซึ่งมีสมรรถนะและความเร็วสูงมาก แต่ครอบคลุมพื้นที่ไม่กว้าง เหมาะกับการให้บริการย่านใจกลางเมืองที่มีประชากรหนาแน่น แต่ไม่เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่กว้างขวาง หมายความว่าผู้ใช้ 5 จี ในประเทศไทยส่วนใหญ่ มักจะใช้คลื่นความถี่ระดับกลางเช่นคลื่นความถี่ 2600 MHz เพื่อเชื่อมต่อกับ 5 จี แทนที่จะเป็น mmWave.