ถ้าเปรียบระบบสุริยะของเราเป็นหมู่บ้านโลก ก็คงมีเพื่อนบ้านแวดล้อมหลายหลัง ใกล้บ้าง ไกลบ้าง เล็กกว่าบ้าง ใหญ่กว่าบ้าง เพื่อนบ้านแต่ละหลังก็มีความแตกต่าง มีลักษณะเฉพาะ จะมีปริศนาอยู่บ้างก็ตรงที่เราไม่รู้ว่าบรรดาเพื่อนบ้านเหล่านั้นมีใครอาศัยอยู่บ้าง รูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไร แต่ถึงไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เลย เราก็ยังอยากรู้อยากเห็นว่าพวกเขามีทรัพยากรอะไรบ้าง เหมือนหรือต่างจากที่มีอยู่ในโลกหรือไม่

สิ่งเหล่านี้กระตุ้นความทะเยอทะยานของมนุษย์ให้ดั้นด้นไปสำรวจ ซึ่งหนึ่งในเพื่อนบ้านที่เราสนอกสนใจมาตลอดก็คือดาวอังคาร มีการส่งยานอวกาศไปสำรวจอย่างต่อเนื่องมานานถึง 60 ปี นับจาก พ.ศ.2503 โดยเป็นยานของสหภาพโซเวียต ทว่าในช่วง 4 ปีนับจาก พ.ศ.2503 ยานหลายลำที่ส่งไปต่างไม่ประสบความสำเร็จ

ภาพจำลองของอินเจนูอิตี มาร์ส เฮลิคอปเตอร์ และหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์ สำรวจดาวอังคาร
ภาพจำลองของอินเจนูอิตี มาร์ส เฮลิคอปเตอร์ และหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์ สำรวจดาวอังคาร

...

จนกระทั่งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือองค์การนาซา ส่งยานสำรวจไปดาวอังคารบ้างในปี พ.ศ.2507 แม้ยานบางลำของฝั่งอเมริกันจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ก็มีหนึ่งลำที่ไปถึงก็คือยานอวกาศมารีเนอร์ 4 ที่ส่งไปสำรวจระบบสุริยะ และเดินทางตลอดรอดฝั่งไปเฉียดใกล้เก็บภาพดาวเคราะห์สีแดงกลับมาได้จำนวนหนึ่ง

จากนั้นดาวอังคารจึงเป็นเวทีแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ขับเคี่ยวกันมาจนกระทั่งดินแดนหลังม่านเหล็กเปลี่ยนเป็นสหพันธรัฐรัสเซีย หรือประเทศรัสเซียในปัจจุบัน ซึ่งมีองค์การอวกาศที่ชื่อ รอสคอสมอส

จีนส่งยานเทียนเหวิน-1
จีนส่งยานเทียนเหวิน-1

ความเนื้อหอมของดาวอังคารไม่ได้ดึงดูดเฉพาะ 2 ชาติมหาอำนาจ ในปี พ.ศ.2541 ญี่ปุ่นก็ส่งยานไปบ้างแต่เชื้อเพลิงหมดก่อนถึงดาว หลังจากนั้นต่อมาก็มีทั้งองค์การอวกาศยุโรป องค์การวิจัยด้านอวกาศของอินเดีย ส่งยานไปไม่น้อยหน้า ในปีนี้เองแม้โลกจะโดนโรคโควิด-ไนน์ทีนเล่นงานหนักหน่วง แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งชาติใหม่ๆ ให้เข้าร่วมวงไพบูลย์ทริปสู่ดาวอังคาร โดยเพิ่งส่งออกกันรัวๆ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ส่งยานโฮป
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ส่งยานโฮป

เริ่มจาก สหรัฐอาหรับ-เอมิเรตส์ หรือยูเออี สร้างประวัติศาสตร์ชาติแรกในกลุ่มอาหรับส่งยานอวกาศ “โฮป” (Hope) ด้วยจรวด เอช-ทูเอ (H-IIA หรือ H2A) ยิงขึ้นจากศูนย์อวกาศทาเนงะชิมะในญี่ปุ่นเมื่อ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา มุ่งหน้าไปโคจรรอบดาวอังคาร จากนั้นในวันที่ 23 ก.ค. สำนักงานบริหารกิจการอวกาศ แห่งชาติจีนก็ปล่อยยานอวกาศเทียนเหวิน-1 (Tianwen-1) ด้วยจรวดลองมาร์ช 5 จากฐาน ปล่อยยานเหวินชาง ในมณฑลไห่หนาน หวังจะลงจอดสำรวจบนดาวอังคารให้ได้ ล่าสุด 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ขาประจำเจนสังเวียนอย่าง องค์การนาซาก็ส่งยานหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance Rover) เพื่อสำรวจหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตพวกจุลินทรีย์ และเก็บตัวอย่างหิน ตะกอนกลับมายังโลก และส่ง อินเจนูอิตี (Ingenuity) เฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กไปด้วย เพื่อค้นหาแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติของดาวอังคาร

...

จรวด Atlas V-541 บรรทุกยานเพอร์เซเวียแรนซ์ของนาซา
จรวด Atlas V-541 บรรทุกยานเพอร์เซเวียแรนซ์ของนาซา
หุ่นยนต์โรเวอร์ เพอร์เซเวียแรนซ์จำลอง ขนาดเท่าของจริง
หุ่นยนต์โรเวอร์ เพอร์เซเวียแรนซ์จำลอง ขนาดเท่าของจริง

...

ยานหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์จัดเป็นยานพาหนะที่ใหญ่ที่สุด หนักที่สุด และซับซ้อนที่สุดของนาซา เมื่อเทียบกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่เคยส่งไปดาวอังคาร ยานโรเวอร์นี้จะลงจอดในพื้นที่ที่เชื่อว่ามีศักยภาพสูงต่อการค้นหาสัญญาณของจุลินทรีย์โบราณ นั่นก็คือแอ่งเยเซโร (Jezero Crater) ที่กว้าง 45 กิโลเมตรตั้งอยู่ขอบทางตะวันตกของแอ่งยักษ์ไอซิดิส ทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตร ยานหุ่นยนต์มีทำงานเพิ่มขึ้นคือหากเจอร่องรอยสิ่งมีชีวิต ก็ต้องวิเคราะห์ว่าพวกมันมีกำเนิดทางชีวภาพหรือไม่ นอกจากนี้ ก็ต้องรวบรวมข้อมูลสำคัญทางธรณีวิทยาและภูมิอากาศของดาวเช่นกัน

จำลองภาพหุ่นยนต์โรเวอร์ เพอร์เซเวียแรนซ์ บนดาวอังคาร
จำลองภาพหุ่นยนต์โรเวอร์ เพอร์เซเวียแรนซ์ บนดาวอังคาร

การตั้งชื่อยานสำรวจแต่ละลำของ 3 ชาติก็เรียกว่าน่าสนใจ “เพอร์เซเวียแรนซ์ โรเวอร์” ที่หมายถึงความเพียรพยายามก็ต้องรอดูว่าหุ่นยนต์สำรวจตัวนี้จะคุ้มค่าต่อความอุตสาหะมากน้อยแค่ไหน ยาน “เทียนเหวิน-1” คำในบทกวีโบราณ “คำถามแห่งสวรรค์” จะได้พบกับจุดหมายที่เฝ้ารอหรือไม่ หรือยาน “โฮป” หมายถึงความหวัง ก็ดูจะแบกความหวังอันยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใครเช่นกัน.

...

ขนาดเท่าจริงของ อินเจนูอิตี มาร์ส เฮลิคอปเตอร์
ขนาดเท่าจริงของ อินเจนูอิตี มาร์ส เฮลิคอปเตอร์

กันเกรา