ดิจิทัล ดิสรัปชัน (Digital Disruption) คำศัพท์ที่สำคัญในยุคที่เกิดขึ้นใกล้ตัวเรา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมต่างๆ, การศึกษา, การเงินการธนาคาร และอื่นๆอีกมากมาย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจแบบใหม่จนส่งผลกระทบต่อกิจการ สินค้าและบริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผู้ประกอบการเองต้องมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตข้างหน้า

โรงพยาบาลเองเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการทำงานเพื่อความรวดเร็ว คล่องตัวและแม่นยำในการบริหารงานคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล

โรงพยาบาลรามคำแหงเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นผู้นำในการลงทุนนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารงานและบริการเต็มรูปแบบ เรามาดูกันว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ทำอะไรไปบ้าง โดยมี นพ.สุธี ลีละเศรษฐกุล กรรมการบริหาร และนายชัยยุทธ์ ดัมประทุมวงษ์ กรรมการบริหารคอมพิวเตอร์และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย-พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โรงพยาบาลรามคำแหง เป็นผู้ให้ข้อมูล

...

ปัจจุบันโรงพยาบาลรามคำแหงได้พัฒนาแอปพลิเคชันสองแอปหลัก คือ RAM SmartOPD แอปสำหรับบริการผู้ป่วยนอก ช่วยจัดการ patient journey สำหรับผู้ป่วยนอก โดยสามารถบริหารข้อมูลคนไข้สำคัญ นับตั้งแต่ผู้ป่วยเดินทางมาโรงพยาบาลเริ่มติดต่อที่แผนกเวชระเบียน การกรอกคัดกรองประเมินคนไข้ ข้อมูลตรวจวัดชีพจร บริหารคิวเพื่อเข้าพบแพทย์ การส่งต่อคนไข้ทำหัตถการ การบันทึกการรักษาต่างๆ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการ เป็นการลดขั้นตอนจากเดิมที่ต้องใช้ 7 ขั้นตอน เหลือเพียง 3 ขั้นตอน

และ RAM SmartWard แอปสำหรับผู้ป่วยใน ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดการคำสั่งการรักษา และเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นประวัติการรักษา การเจ็บป่วย ผลแล็บ ช่วยให้การวินิจฉัยโรค การติดตามการรักษา และการจ่ายยาทำได้อย่าง รวดเร็ว แม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการสื่อสารและอธิ– บายแนวทางในการรักษาแก่ผู้ป่วยเป็นไปอย่างสะดวกและเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีแอปซ่อนอยู่ภายใต้ 2 แอปหลักอีก 13 แอปที่คอยสนับสนุนการทำงาน

โดยบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลใช้งานผ่าน iPad ประมาณ 1,000 เครื่อง และ iPod อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อจัดเก็บ วิเคราะห์ข้อมูล บริหารการรักษารวมถึงการจ่ายยาให้ผู้ป่วย เมื่อรวมกับโรงพยาบาลในเครืออีก 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา, โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา, โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม, โรงพยาบาลลานนา, โรงพยาบาลสุขุมวิท และโรงพยาบาลขอนแก่นราม มีการใช้งาน iPad รวมกันกว่า 2,000 เครื่อง และ iPod อีก 450 เครื่อง

การนำ iPod มาใช้จัดบริหารงานผู้ป่วยนั้น เพราะเป็นเครื่องขนาดเล็ก แต่วิธีการใช้เหมือนกับ iPad แอปเดียวกัน การทำงานเหมือนกัน แต่พยาบาลสามารถใช้งานได้คล่องตัวกว่า iPad เช่น ช่วยนางพยาบาลใช้สแกนสายรัดข้อมือผู้ป่วยในเพื่อยืนยันความถูกต้องของการจ่ายยาว่าใช้ยาถูกต้อง ไม่มีการจ่ายยาซ้ำ หรือช่วยเตือนยาที่มีปฏิกิริยาต่อกัน เป็นต้น

สำหรับมุมมองแพทย์เองมองว่าการใช้ระบบดิจิทัลได้ประโยชน์เพิ่ม โดยเฉพาะผู้ป่วยนอกจะรู้เวลาของแพทย์ประจำแน่นอน รู้ว่ากี่คิวจะได้บริหารเวลาได้ถูก แต่ผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนแปลงของอาการ หรือบางวันช่วงเช้าตรวจผู้ป่วยเสร็จ เมื่อสั่งเอกซเรย์ไปผลใช้เวลาค่อนข้างนาน เมื่อแพทย์กลับบ้าน พยาบาลรายงานผลเอกซเรย์ ซึ่งปกติจะใช้โทร.ถาม ไม่เห็นภาพไม่เห็นตัวเลข แต่ระบบเห็นหมด ดูผลแล็บ ดูรีวิวการรักษาที่ผ่านมา ซึ่งสามารถสั่งยารักษาจากที่บ้านได้เลย ทำให้คนไข้ได้รับการรักษาถูกต้องทันท่วงทีไม่ล่าช้า

...

นายชัยยุทธ์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันทางโรงพยาบาลยังไม่ถือว่ามีการใช้ดิจิทัลเต็มรูปแบบ 100% และไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะลดการใช้กระดาษเป็น 0% แต่เมื่อใช้พัฒนาดิจิทัลไปเรื่อยๆ การใช้กระดาษจะลดลงเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ากระดาษประวัติผู้ป่วยเดิมต้องใช้เนื้อที่เก็บไว้มาก เทียบเท่าห้องประชุมขนาดใหญ่ถึง 7 ห้อง แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว

สำหรับเครือข่าย 5G ที่ได้ประมูลเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้นจะเข้าเปลี่ยนรูปโฉมหรือแลนด์สเคปครั้งใหญ่ ทั้งในด้านผู้ป่วย แพทย์และพยาบาล โดยเฉพาะการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลตามแผนภายใน 3 ปีจะพัฒนาต่อยอดไปถึงจุดนั้น.