จากสัปดาห์ที่แล้ว ที่ได้กล่าวถึงแนวโน้มในการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยว่าหากจะเดินหน้าพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังมีปัจจัยที่ต้องกังวลคือเรื่องต้นทุนการผลิตที่จะต้องให้มีกำลังผลิตติดตั้งในอัตราที่สูงกว่าปริมาณความต้องการไฟฟ้าสูงสุด รวมทั้งข้อกังวลในเรื่องความมั่นคงของระบบไฟฟ้าที่จะต้องมีระบบการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีความสมดุลและมีประสิทธิภาพระหว่างพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งดั้งเดิมและพลังงานหมุนเวียนเพื่อไม่ให้ต้นทุนที่สูงขึ้นมาเป็นภาระแก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า

สัปดาห์นี้ เราจะไปสำรวจกันว่า ประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้มาทดแทนพลังงานฟอสซิลแบบดั้งเดิมอย่างประเทศสเปนและโปรตุเกสมีการพัฒนาในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ประเทศแรกที่คณะผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำคณะสื่อมวลชนไทยไปศึกษาดูงานด้านการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการบริหารจัดการไฟฟ้า ได้แก่ ราชอาณาจักรสเปน ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 20.6% ถ่านหิน 14.3% แต่ผลิตจากพลังงานลม 19.0% พลังงานน้ำ 13.8% และพลังงานแสงอาทิตย์ 4.7% นับว่าขณะนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ประมาณ 37.5%

โรงไฟฟ้าต้นแบบผสมผสานพลังงานลมกับแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ ที่เมืองซาราโกซา ประเทศสเปน
โรงไฟฟ้าต้นแบบผสมผสานพลังงานลมกับแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ ที่เมืองซาราโกซา ประเทศสเปน

...

ดังนั้น ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าในสเปนจึงมุ่งไปสู่การพัฒนาระบบการบริหารจัดการโรงผลิตไฟแบบผสมผสาน หรือไฮบริด โดยได้มีการทดสอบระบบโรงผลิตไฟฟ้าต้นแบบที่มีการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลม ผสมผสานกับการผลิตด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และน้ำมันดีเซล พร้อมทั้งมีระบบเก็บกักพลังงานด้วยลิเธียมแบตเตอรี่

โรงงานไฟฟ้าต้นแบบที่ว่านี้ ตั้งอยู่ที่ชานเมืองซาราโกซา ชื่อว่า La Plana Hybrid Prototype & Test Plant โดยบริษัท ซีเมนส์-กาเมซ่า มีกำลังการผลิตจากกังหันลม 1 ต้น ผลิตได้ 0.850 เมกะวัตต์ ผลิตด้วยแผงโซลาร์เซลล์จากพลังงานแสงอาทิตย์ 0.245 เมกะวัตต์ จากเครื่องยนต์ดีเซล (3 เครื่อง) 0.666 เมกะวัตต์ และมีลิเธียมแบตเตอรี่ที่กักเก็บไฟฟ้าไว้ได้อีก 0.143 เมกะวัตต์/เมกะวัตต์ชั่วโมง โดยเริ่มทดสอบระบบมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 จนถึงปัจจุบัน

ผลการทดสอบพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะสามารถเชื่อมต่อและส่งไฟฟ้าที่ผลิตได้บางส่วนเข้าไปขายในระบบของตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า และพร้อมที่จะนำไปติดตั้งจริงกับโรงงานไฟฟ้าแบบผสมผสาน โดยระบบนี้มีจุดเด่นคือการใช้ซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่เหมือนสมองกลควบคุมการผลิตและจ่ายไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ และตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างสมดุล โดยกำลังนำไปติดตั้งเพื่อใช้งานจริงกับโรงไฟฟ้าแบบพลังงานผสมผสานและในประเทศอินเดีย

ผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
ผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ในประเทศไทยมีศูนย์ทดลองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสานแล้วเช่นกัน ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง ที่เป็นพลังงานลมจากกังหันลมร่วมกับการใช้ระบบเก็บกักพลังงานในรูปแบบของไฮโดรเจน และนอกจากนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับที่มีอยู่ในปัจจุบัน 500 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้างซึ่งใกล้แล้วเสร็จอีก 500 เมกะวัตต์ ทำให้เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์จะมีกำลังผลิตรวม 1,000 เมกะวัตต์ คาดว่าน่าจะต้องมีการผลิตไฟฟ้าในลักษณะคล้ายๆ กันเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่มีแผนจะดำเนินการโครงการนำร่องที่เขื่อนสิรินธรเป็นแห่งแรก และมีแผนที่จะขยายไปยังเขื่อนอื่นๆ อีก 9 เขื่อน

จุดต่อมาที่ได้มีการศึกษาดูงานในราชอาณาจักรสเปน คือ โรงไฟฟ้า Zabalgarbi Waste-to-Energy ตั้งอยู่ที่เมืองบิลเบา ทางตอนเหนือของสเปน ซึ่งมีจุดเด่นคือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ผลิตไฟฟ้าจากกังหันก๊าซ ร่วมกับการใช้การนำขยะจากชุมชนมาเผาเพื่อให้ความร้อนในการผลิตไอน้ำไปขับกังหันไอน้ำ โรงไฟฟ้าแห่งนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 99.5 เมกะวัตต์ และสามารถเผาขยะได้ชั่วโมงละ 30 ตัน โดยมีระบบบริหารจัดการและควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่รัดกุม นั่นคือมีระบบตรวจวัดอากาศรอบๆ โรงไฟฟ้าถึง 3 แห่ง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาอากาศเป็นพิษ รวมทั้งมีการตรวจวัดการปนเปื้อนในดิน พืช และในน้ำ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าโรงงานไฟฟ้าแห่งนี้มีความปลอดภัยและไม่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม

...

โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจากกังหันก๊าซและขยะ ที่เมืองบิลเบา ประเทศสเปน
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจากกังหันก๊าซและขยะ ที่เมืองบิลเบา ประเทศสเปน

จุดเด่นของโรงไฟฟ้าแห่งนี้คือ การได้มีส่วนช่วยชุมชนในการกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้พลังงานไฟฟ้ามาใช้ในชุมชนได้อีก โดยเริ่มต้นมาจากความร่วมมือของฝ่ายการเมืองท้องถิ่น คนในชุมชนและภาคเอกชน และความสำเร็จของโครงการนี้มาจากการให้การศึกษากับชุมชนและการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจังเพื่อให้การแยกขยะได้ผล

ข้อสำคัญที่สุดที่ทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานขยะแห่งนี้สามารถประสบความสำเร็จได้ก็ด้วยการส่งเสริมจากรัฐบาลทั้งในด้านงบประมาณและนโยบายที่แน่วแน่ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ขณะที่ในประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องนโยบายที่ยังไม่ให้การสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าขยะอย่างจริงจัง อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงที่มาจากนโยบายกำจัดขยะด้วยการฝังกลบ และความไม่จริงจังในการสร้างวินัยการแยกขยะในชุมชน

...

ส่วนจุดที่สามที่ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ คือโครงการทดลองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการวางแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ หรือ Floating Solar ที่เขื่อนอัลโต ราบากัล ทางเหนือของเมืองปอร์โต สาธารณรัฐโปรตุเกส โดยเขื่อนแห่งนี้เป็นของบริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งประเทศโปรตุเกส หรือ EDP

โครงการทดลองผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้ทุ่นลอยน้ำที่เขื่อนอัลโต ราบากัล ประเทศโปรตุเกส
โครงการทดลองผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้ทุ่นลอยน้ำที่เขื่อนอัลโต ราบากัล ประเทศโปรตุเกส

โครงการนี้เป็นโครงการทดลองที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อรองรับแผนการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาลโปรตุเกส ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากปัจจุบัน 300 เมกะวัตต์ เป็น 7,000 เมกะวัตต์ในปี 2573 โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานน้ำกับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจากการทดลองที่ผ่านมาพบว่า ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการนำแผงโซลาร์เซลล์มาไว้บนทุ่นบนน้ำในเขื่อนที่ทดสอบแล้วสามารถผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่าวางแผงไว้บนพื้นดินประมาณ 4%-10%

...

ดังนั้น บริษัท EDP จึงกำลังดำเนินการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนทางภาคใต้ของประเทศจำนวน 4 ชุด มีกำลังผลิตชุดละ 120 เมกะวัตต์ เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เพื่อขายในระบบภายในปี 2563 ทั้งนี้ เพราะจากโครงการทดลองที่ผ่านมา ทำให้มั่นใจแล้วว่าได้ผลจริง

จากโครงการทดลองผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังน้ำกับพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว เราได้มีโอกาสไปศึกษาการทำงานของศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของบริษัท EDP หรือ Renewables Dispatch Center ที่เมืองปอร์โต ซึ่งเป็นจุดควบคุมและสั่งการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเป็นหลัก เพราะ EDP เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก (ผลิตได้รวมกว่า 10,000 เมกะวัตต์) และใหญ่ที่สุดในประเทศโปรตุเกส

ศูนย์ควบคุมแห่งนี้ สามารถควบคุมและสั่งการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบ real time ไปยังกังหันลมและแผงโซลาร์เซลล์ทุกจุดทั้งในประเทศโปรตุเกส และบราซิล รวมทั้งสามารถแลกเปลี่ยนกับศูนย์ลักษณะเดียวกันของบริษัทในประเทศสเปน เพื่อทำหน้าที่บริหารผลิตไฟฟ้า บริหารจัดการระบบการส่งไฟฟ้า ระบบการซื้อขายไฟฟ้า รวมทั้งทำหน้าที่คาดการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนจากแหล่งต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบไฟฟ้าจะมีความมั่นคงและสมดุลกับการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานอื่น

ผู้บริหารของบริษัท EDP บอกว่า ภายในปี 2573 บริษัทมีเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ถึง 90% พร้อมทั้งเลิกการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรียนกระจก รวมทั้งมีระบบการบริหารจัดการไฟฟ้าแบบอัจฉริยะ (Smart Grid) ให้ได้ 100%

ศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุมเวียนของบริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งประเทศโปรตุเกส (EDP)
ศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุมเวียนของบริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งประเทศโปรตุเกส (EDP)

จากประสบการณ์การศึกษาดูงานด้านการผลิตไฟฟ้าในราชอาณาจักรสเปนและสาธารณรัฐโปรตุเกส ทำให้เห็นถึงแนวโน้มของการผลิตไฟฟ้าในอนาคตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ที่จะไปในทิศทางที่ใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแม้จะปัจจุบันอาจจะยังไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์และมีความไม่แน่นอนของกำลังผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้องมีการลงทุนสูง แต่ด้วยปัญหาโลกร้อนที่กำลังส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเดินไปในทิศทางนี้

ส่วนในประเทศไทยนั้น แม้ว่าแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ 2561-2580 จะมีแนวโน้มให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในอัตราที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในสหภาพยุโรป

ดังนั้น หากเราต้องการที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดจะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเองที่จะต้องเริ่มทำความเข้าใจกับต้นทุนการผลิตพลังงานไฟฟ้ากับต้นทุนทางด้านสภาวะแวดล้อมของโลกในระยะยาวว่าจะต้องมีความสมดุลกันด้วย...


ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี

www.twitter.com/chavarong

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :