ในเวลาปกติ เรื่องราวของไฟฟ้ามักจะไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนักในเวที Social Media ยกเว้นปัญหาเรื่อง “ไฟฟ้าดับ” ในบางพื้นที่ ซึ่งมักจะเกิดจากอุบัติเหตุหรือภัยธรรมชาติ เช่น พายุลมแรง จนทำให้เสาไฟฟ้าล้ม หรือหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ซึ่งปัญหาเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้า “ฝ่ายจำหน่าย” 2 องค์กรคือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย

แต่เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้เมื่อค่ำวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 หรือประมาณ 6 ปีเศษมาแล้ว อันเนื่องมาจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่เชื่อมระหว่างภาคกลางลงภาคใต้บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เกิดปัญหา ทำให้ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าลงสู่ภาคใต้ได้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่อยู่ในความรับผิดชอบของ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงาน เพราะ กฟผ.มีภารกิจหลักในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านนวัตกรรมของประเทศไทย

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 จึงเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าและการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าในประเทศไทยที่ กฟผ.มีส่วนร่วมรับผิดชอบอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องของการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ ซึ่งในขณะนั้นมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าความสามารถในการผลิตไฟฟ้าอยู่พอสมควร

...

แต่การจะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคใต้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความตื่นตัวของประชาชนต่อผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอันอาจเกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้ามีมากขึ้น ดังนั้น การจะจัดหาหรือสร้างแหล่งพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบเดิม เช่น การสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหิน จึงเป็นเรื่องยากเพราะถูกการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่

ในระยะหลังมานี้ เทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มีการพัฒนามากขึ้น และประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ได้มีการส่งเสริมเพื่อให้สามารถเข้าทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหรือฟอสซิลที่ยังมีการปล่อยมลพิษเข้าสู่บรรยากาศ แม้จะอยู่ในปริมาณที่ต่ำและไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์ก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งได้เห็นชอบต่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) นั้น ระบุให้มีแผนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้า หรือ Grid Modernization โครงการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานและระบบกักเก็บพลังงาน และโครงการส่งเสริมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่ง กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าต้องเข้ามารับผิดชอบดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนนี้

“วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย” ผู้ว่าการ กฟผ.ยืนยันว่า กฟผ.ไม่ได้ต่อต้านพลังงานหมุนเวียน แต่การจะพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นจะต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่อาจสูงขึ้น รวมถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภายในประเทศด้วย ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณาคือ เราจะนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้อย่างไร ไม่ให้กระทบกับต้นทุนค่าไฟฟ้าและกระทบความมั่นคงของระบบ

จากข้อมูลระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย เรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 47,418 เมกะวัตต์ (MW) แต่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 29,969 MW หรือมีกำลังผลิตมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 58% ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในสหภาพยุโรปที่มีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น สเปนที่มีถึง 158% หรือโปรตุเกสที่มี 129%

เหตุผลหลักที่ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องมีกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงมากเช่นนี้ เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้นมีความไม่แน่นอน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมกำลังลมหรือปริมาณแสงอาทิตย์ได้ จึงต้องมีแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่มากเพียงพอเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีไฟฟ้าในระบบเพียงพอต่อความต้องการในทุกช่วงเวลาของทุกฤดู

ส่วนในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลักถึง 60% ถ่านหิน 13% และอีก 24% จากพลังงานน้ำและพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ โดยส่วนใหญ่มาจากพลังงานน้ำเป็นหลัก ขณะที่ประเทศสเปนผลิตจากก๊าซ 30% ถ่านหิน 9.6% แต่ผลิตจากพลังงานลม 22.6% พลังงานน้ำ 19.6% และพลังงานแสงอาทิตย์ 6.7%

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า หากประเทศไทยจะพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศไทยน่าจะมีศักยภาพสูงเพราะเป็นประเทศในเขตร้อน มีแดดออกทั้งปี ก็จะต้องเพิ่มกำลังการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญในการรับและแปลงพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้า

...

แต่ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงหากต้องการจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ก็คือ ต้นทุนการผลิตทั้งในด้านพื้นที่ อุปกรณ์ การบำรุงรักษา และการจัดการกับอุปกรณ์ที่หมดอายุแล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ยังจะต้องมีระบบการบริหารจัดการโครงข่ายและการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีความสมดุลและมีประสิทธิภาพระหว่างพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งดั้งเดิมและพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อไม่ให้ต้นทุนที่สูงขึ้นมาเป็นภาระแก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น

สัปดาห์หน้า เราจะไปดูกันว่า ประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้มาทดแทนพลังงานฟอสซิลแบบดั้งเดิมอย่างประเทศสเปนและโปรตุเกส เขาทำกันอย่างไร และหากจะนำมาใช้กับการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย น่าจะต้องนำมาปรับใช้อย่างไรบ้าง... สัปดาห์หน้ามาติดตามกัน...

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
www.twitter.com/chavarong