SeaX Ventures กองทุนสัญชาติไทย ภายใต้ความร่วมมือกับ RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร เตรียมเงิน 1.5 พันล้านบาท เพื่อลงทุนสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep Tech

การลงทุนของ SeaX Ventures จะเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นและระยะเติบโตที่มี Deep Technology ใน 6 ด้านด้วยกัน ได้แก่ Blockchain, Foodtech, Biotech & Life Science, Artificial Intelligence, Robotics และ IoT & Hardware ซึ่งมีแนวโน้มในการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตทั้งในอาเซียนและซิลิคอนวัลเล่ย์

สตาร์ทอัพที่ SeaX Ventures ให้ความสนใจ มี 6 ด้านด้วยกัน
สตาร์ทอัพที่ SeaX Ventures ให้ความสนใจ มี 6 ด้านด้วยกัน

จากการที่ SeaX Ventures ได้ทำความร่วมมือกับ RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร จึงทำให้มีเครือข่ายกับ Incubator และ Accelerator ทั่วโลก รวมไปถึงการเข้าถึงฐานข้อมูลของผู้ก่อตั้ง (Founder) ที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ อาทิ Harvard, MIT หรือ Stanford ทำให้สามารถค้นหาสตาร์ทอัพที่ไม่เพียงแต่จะสร้างผลตอบแทนในระยะยาว แต่ยังสามารถช่วยเร่งสปีดการทรานส์ฟอร์มองค์กรในระยะสั้นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

นายศุภชัย ปาจริยานนท์ Managing Partner ของ SeaX Ventures กล่าวว่า Deep Technology นับว่าเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่จะทำให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และเพิ่มโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ ผ่านการร่วมทุนหรือ Joint Venture สำหรับองค์กรที่มาลงทุนกับ SeaX Ventures ถือว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว

ตัวแรกคือ ได้เรียนรู้จากสตาร์ทอัพที่มี Deep Technology มาปรับใช้กับองค์กรได้ทันที ตัวที่สองคือ โอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน และตัวที่สามคือ โอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ไปกับสตาร์ทอัพที่มี Deep Technology และมี Synergy ตรงกับธุรกิจขององค์กร

นายศุภชัย กล่าวถึง จุดแข็งของ SeaX Ventures ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ข้อ ได้แก่

1. Exclusive Access to World-class Deep Tech Startups: เปิดโอกาสให้องค์กรไทยเข้าถึง Deep Technology จากทั่วโลกผ่านการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มี Founder ระดับโลก พร้อมศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและมีโอกาสในการเติบโตของธุรกิจอย่างก้าวกระโดด

2. Strategic Collaboration Beyond Investment: เน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีที่องค์กรไทยสามารถสร้างความร่วมมือและพัฒนาต่อยอดธุรกิจและนวัตกรรมร่วมกันได้ ไม่ใช่เพียงแค่การลงทุน (Strategic Investment)

3. Exponential Returns on Investment: โอกาสในการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่น่าพอใจ ซึ่งจากความสำเร็จของกองทุนแรกของ SeaX Ventures ได้สร้างผลตอบแทนคิดเป็น 308% ของอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR)

นายศุภชัย กล่าวต่อไปว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา SeaX Ventures ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพไปแล้วกว่า 10 บริษัท และวางแผนจะลงทุนเพิ่มอีก 30 บริษัท โดยสัดส่วนการลงทุนของ SeaX Ventures จะอยู่ที่การลงทุนในสตาร์ทอัพสหรัฐอเมริกา 70 เปอร์เซ็นต์ สตาร์ทอัพในอาเซียนและอื่นๆ รวมกัน 30 เปอร์เซ็นต์

ที่ผ่านมา SeaX Ventures ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพด้านบล็อกเชน (Blockchain) เป็นจำนวน 2 บริษัท นั่นคือ Solana Blockchain เจ้าของฉายา Ethereum Killer และ Band Protocol สตาร์ทอัพด้านบล็อกเชนของคนไทย ที่มีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ขึ้นแท่นเป็นคริปโตคอร์น (สตาร์ทอัพยูนิคอร์นด้าน Cryptocurrency)

...

พอร์ตโฟลิโอด้านการลงทุนของ SeaX Ventures
พอร์ตโฟลิโอด้านการลงทุนของ SeaX Ventures

จากความสำเร็จของกองทุนแรก ปัจจุบัน SeaX Ventures มีเงินลงทุนภายใต้การบริหารรวมกว่า 1.5 พันล้านบาท (ณ 31 สิงหาคม 2564) ซึ่งในปีนี้ SeaX Ventures ได้เปิดกองทุนใหม่ และได้ผลการตอบรับอย่างดีจากเจ้าของกิจการ และผู้บริหารระดับสูง รวมไปถึงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกหลายแห่ง เช่น

  • นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
  • นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
  • นายชาย ศรีวิกรม์ กรรมการ Gaysorn Group
  • นางสาวอนุษฐา เชาว์วิศิษฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด
  • นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ กรรมการบริหารบริษัท ดับเบิ้ลเอ (1991) จำกัด (มหาชน)
  • นายนาถ ลิ่วเจริญ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CDG GROUP
  • นายวิบูลย์ ตวงสิทธิสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์
  • นายเรืองชาย สุพรรณพงศ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการองค์กร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด
  • นายวีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน)
  • นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน)

นักลงทุนสถาบันจากองค์กรชั้นนำ อาทิ

  • กองทุน สิงห์ เวนเจอร์ส
  • บริษัท วัชรพล จำกัด (ไทยรัฐ)
  • บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท บีซีเอช เวนเจอร์ส จำกัด ในกลุ่มบริษัทเบญจจินดา