• สูตร Win Win คือ ความสำเร็จครั้งสำคัญของ บริษัท เมอร์คูลาร์ (mercular.com) สตาร์ทอัพคนไทย จากการระดมทุนระดับ Series A มูลค่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทั้งต่างชาติและในไทย
  • การ “เรียนรู้คน” และการ “เสียสละ อดทน” คือหนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทเมอร์คูลาร์ ที่ “วรกันต์ วัฒนศักดิ์ชัย” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจได้เรียนรู้
  • เป้าหมายต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า คือการระดมทุนให้ได้ในระดับ Series B มูลค่ามากกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 600 ล้านบาท


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับสตาร์ทอัพไทยแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า บริษัทเมอร์คูลาร์ เจ้าของเว็บอีคอมเมิร์ซ mercular.com หลังรอลุ้นการเจรจา ที่ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน แน่นอนว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีกับพนักงานกว่า 60 คน และผู้ก่อตั้งบริษัท 3 คน คือ วรกันต์ วัฒนศักดิ์ชัย ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ภูมิ พืชไพจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ธีศิษฐ์ คงภักดีพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคนิค (CTO)

ความเปลี่ยนแปลงนี้คือ การได้รับเงินโอนมาจากนักลงทุนจากการระดมทุนระดับ Series A มูลค่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศที่บรรดาธุรกิจสตาร์ทอัพคุ้นเคยกันดี ได้แก่ Kairous Capital, CyberAgent Capital, Nvest Ventures, Premiers and 500 TukTuks เพื่อร่วมขยายธุรกิจให้เมอร์คูลาร์ ที่วันนี้มีอายุกว่า 4 ปี ให้เติบโตยิ่งขึ้น

 ธีศิษฐ์ วรกันต์ และภูมิ 3 ผู้ร่วมก่อตั้ง เมอร์คูลาร์ (mercular.com) สตาร์ทอัพคนไทย
ธีศิษฐ์ วรกันต์ และภูมิ 3 ผู้ร่วมก่อตั้ง เมอร์คูลาร์ (mercular.com) สตาร์ทอัพคนไทย

...

วรกันต์ วัย 32 ปี เล่าถึงความรู้สึกครั้งนี้ว่า เป็นความสำเร็จที่มาเร็วกว่าที่คาดไว้ แม้จะเป็นเป้าหมายที่ตัวเขาและผู้ก่อตั้งบริษัทหวังว่าวันหนึ่งต้องทำได้ จึงมั่นใจว่านับจากนี้อีก 3 ปี ธุรกิจจะเติบโตยิ่งขึ้น เพราะความสำเร็จนี้มาจากพื้นฐานธุรกิจที่ตัวเขาและผู้ร่วมก่อตั้ง รวมถึงพนักงานทุกคนช่วยกันสร้าง จนทำให้แต่ละปีมียอดขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 100% 

สำหรับเงินทุนก้อนใหม่นี้ จะนำมาพัฒนาเทคโนโลยี การเพิ่มช่องทางขาย และทุ่มกับกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และสร้างความแตกต่างจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างชาติมากขึ้น

นี่คือภาพปัจจุบัน และการวาดอนาคตที่ต่างจากปลายปี 2559 ที่ วรกันต์ ลาออกจากการทำงานประจำที่กลุ่มเซ็นทรัล และมาร่วมกับเพื่อนก่อตั้งเมอร์คูลาร์ โดยมองเห็นช่องทางธุรกิจการเป็น บริษัทอีคอมเมิร์ซ ที่เน้นจุดเด่นคือ จำหน่ายสินค้าเฉพาะด้าน Hobby Lifestyle เช่น หูฟัง ลำโพง เจาะกลุ่มมิลเลเนียม ที่มีไลฟ์สไตล์ตามเทรนด์ ถ่ายรูป ฟังเพลง ซึ่งเป็นตลาดโตเร็วมาก

ช่วงเวลานั้น ต้องทำเองทุกงาน รวมไปถึงการเขียนรีวิวหูฟังนับพันชิ้น โดยมีลูกค้ารายแรกคือ น้องของเพื่อนสั่งซื้อหูฟัง ในราคาประมาณ 3-4 พันบาท

จากความต่างที่มีความชัดเจนว่าเป็นเว็บอีคอมเมิร์ซ จำหน่ายสินค้าเฉพาะด้าน Hobby Lifestyle ทำให้เมอร์คูลาร์เป็นที่รู้จัก บอกต่อกันมากขึ้น ลูกค้าจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนเติบโต และมีเงินทุนสนใจมาร่วมลงทุนด้วยอย่างที่เห็น

เบื้องหลังการเจรจาธุรกิจจนปิดดีลได้นั้น วรกันต์ เล่าว่า ส่วนหนึ่งจากประสบการณ์การทำงาน โดยเฉพาะที่กลุ่มเซ็นทรัล ทำให้ได้รู้จักกับคนจำนวนมาก และที่สำคัญคือการเรียนรู้คน ว่าแต่ละคน แต่ละวัยมีความต้องการแตกต่างกัน ต้องมีความเข้าใจว่าใครต้องการอะไร เช่นเดียวกับการเจรจาครั้งนี้ ที่เราต้องยึดหลัก Win Win บอกกับนักลงทุนให้ได้ว่า เขาจะได้รับสิ่งใดตอบแทนจากการมาลงทุน ไม่เพียงแค่บริษัทเราได้เงินทุนจากเขาเท่านั้น

บรรยากาศที่ทำงาน ในช่วงปกติก่อนที่จะมีโควิด-19 ระบาด
บรรยากาศที่ทำงาน ในช่วงปกติก่อนที่จะมีโควิด-19 ระบาด


ขณะเดียวกัน นักลงทุนก็รู้สไตล์การทำธุรกิจของผู้ก่อตั้งบริษัทเมอร์คูลาร์ ที่ต่างยึดว่าต้องมีความเสียสละทั้งเงินทอง และเวลาส่วนตัว อย่าหลงแสงสี หมายความว่า เมื่อได้รายได้มาแล้ว ควรนำเงินลงทุนต่อ และอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ที่สำคัญต้องมีความเข้าใจธุรกิจที่กำลังแข่งขันอยู่ ซึ่งธุรกิจนี้โจทย์หลักคือ คู่แข่งต่างชาติรายใหญ่ที่มีเงินทุนเยอะ มีการแข่งขันเร็ว ใช้เงินทุนสูง สิ่งที่จะชนะได้คือความเข้าใจลูกค้า และความคิดสร้างสรรค์ตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้

จากนี้ในการวิ่งบนรันเวย์ของธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ วรกันต์ และเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งเลือกแล้ว แม้จะมีการแข่งขันสูงเหมือนวิ่งมาราธอน ที่ต้องใช้ความอดทน แต่ก็พร้อมลุยต่อไปเพื่อให้ชนะได้ในระยะยาว