เมื่อพูดถึงสนีกเกอร์ (Sneaker) เชื่อว่าใครหลายคนจะนึกถึงไนกี้ (Nike), อาดิดาส (adidas), พูมา (Puma) หรือแม้แต่จอร์แดน (Jordan) ซึ่งเป็นแบรนด์สนีกเกอร์ของไมเคิล จอร์แดน เทพเจ้าแห่งวงการบาสเกตบอล ที่อยู่ภายใต้เครือไนกี้อีกทอดหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่เรียกขานตัวเองว่าสนีกเกอร์เฮด (Sneakerhead) หรือคนที่คลั่งไคล้ในสนีกเกอร์ จะต้องเคยเห็นแบรนด์สนีกเกอร์ที่มีชื่อว่า Allbirds อย่างแน่นอน

ที่สำคัญ Allbirds ไม่ใช่แค่แบรนด์ที่ผลิตสนีกเกอร์เพื่อหวังสร้างกำไรเอาเงินเข้ากระเป๋าแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาเป็นแบรนด์ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงออกถึงความรักษ์โลก และบริษัทแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในระดับที่ไม่ธรรมดา เพราะพวกเขาเป็นบริษัทสตาร์ทอัพยูนิคอร์น ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท ทั้งที่บริษัทเพิ่งก่อตั้งเป็นรูปเป็นร่างในปี 2014 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ

มาทำความรู้จัก Allbirds สตาร์ทอัพสายสนีกเกอร์ ที่มีมูลค่าหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐแห่งนี้กัน

ผู้ร่วมก่อตั้ง Allbirds มีสองคน

Joey Zwillinger และ Tim Brown (ขวา)
Joey Zwillinger และ Tim Brown (ขวา)

...

แทบเป็นเรื่องปกติในวงการสตาร์ทอัพที่จะมีผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอย่างน้อยสองคน ซึ่งในรายของ Allbirds ก็มีผู้ก่อตั้งสองคน คนหนึ่งชื่อว่า Tim Brown อีกคนหนึ่งคือ Joey Zwillinger เพียงแต่ความน่าสนใจของหนึ่งในสองผู้ก่อตั้ง นั่นคือ Tim Brown ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ผ่านการค้าแข้งในเอ-ลีก ซึ่งเป็นลีกฟุตบอลสูงสุดของประเทศออสเตรเลีย

ผลงานของ Tim Brown ในขณะที่ยังเป็นพ่อค้าแข้งอยู่นั้น เขาเล่นในตำแหน่งกองกลาง โดยเป็นกองกลางจอมถล่มประตูคนหนึ่ง ในช่วงที่เล่นให้กับเวลลิงตัน ฟีนิกซ์ เขาลงสนาม 112 เกม ยิงได้ถึง 23 ประตู ภายในระยะเวลาเพียง 5 ฤดูกาล เท่านั้นยังไม่พอ เขาเคยติดทีมชาตินิวซีแลนด์ ถึง 30 ครั้ง และเป็นหนึ่งในนักเตะชุดฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ด้วย แต่น่าเสียดายที่ Tim Brown ไม่ได้มีโอกาสสัมผัสในเกมฟุตบอลโลก แม้แต่นาทีเดียว 

อย่างไรก็ดี ฟุตบอลไม่ได้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ Tim Brown หลงใหล เพราะในอีกด้านหนึ่งของพรสวรรค์ ตัวเขาชื่นชอบในเรื่องงานออกแบบ โดยเริ่มจากการทำรองเท้าผ้าใบธรรมดาๆ แจกจ่ายให้กับเพื่อนร่วมทีมที่เวลลิงตัน ฟีนิกซ์ จากนั้นได้นำขนแกะซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากมายทั้งในประเทศออสเตรเลีย (ที่เขาค้าแข้งอยู่) และบ้านเกิดของเขาที่ประเทศนิวซีแลนด์ มาเป็นรองเท้าเพื่อให้เกิดความนุ่มสบายในขณะที่สวมใส่

ทางด้าน Joey Zwillinger ก่อนหน้าที่จะมาทำงานเต็มเวลากับ Allbirds เขากำลังทำงานเป็นรองประธานบริษัทให้กับบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งหนึ่ง แต่ตัวเขารู้สึกผิดหวังในทิศทางของบริษัท สุดท้ายโชคชะตานำพาให้ Tim Brown และ Joey Zwillinger มาเจอกัน แล้วร่วมกันก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ Allbirds ขึ้นมา มีสำนักงานใหญ่ในซาน ฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย

ปัจจุบัน นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาแล้ว Allbirds มีสำนักงานใหญ่ที่สหราชอาณาจักรและประเทศจีน อีกด้วย

กำเนิด Allbirds สนีกเกอร์รักษ์โลก

หลังจากร่วมกันก่อตั้งบริษัท Tim Brown และ Joey Zwillinger ก็ได้พัฒนาแนวคิดของสนีกเกอร์ภายใต้แบรนด์ Allbirds ซึ่งใช้เวลานานหลายปี โดยได้หยิบเอาขนแกะจากนิวซีแลนด์มาทำเป็นอัปเปอร์ (ส่วนบนของรองเท้า) พร้อมกันการค้นหาแนวทางในการเอาวัตถุดิบเหลือใช้มาทำเป็นสนีกเกอร์

ก่อนที่ในปี 2014 พวกเขาได้เปิดแคมเปญระดมทุนผ่านเว็บไซต์ Kickstarter ในชื่อ The Wool Runners ผลิตสนีกเกอร์รุ่นแรกออกมา ซึ่งมีผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก สามารถระดมทุนได้มากถึง 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลาแค่ 4 วัน

จากนั้นชื่อของ Allbirds เริ่มเนื้อหอมกลายเป็นที่หมายปองของนักลงทุนทั้งในสหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ 

แนวทางของ Allbirds
แนวทางของ Allbirds

Tim Brown เคยกล่าวว่า บริษัท Allbirds ของพวกเขา ต้องการผลิตสนีกเกอร์ที่มีความเรียบง่าย อยากให้มันเป็นสนีกเกอร์ที่แมตช์เข้ากับการแต่งกายทุกรูปแบบ ภายใต้เสาหลักในการออกแบบจำนวน 3 เสา ได้แก่ 1. ใส่แล้วต้องนุ่มสบาย 2. เน้นการออกแบบโดยขจัดสิ่งไม่จำเป็นออกไปให้หมด เหลือไว้เฉพาะความสวยงาม และ 3. ใส่แล้วต้องเป็นมิตรต่อโลก ซึ่งมันก็เป็นไปตามนั้น โดยในปี 2016 นิตยสารไทม์ เคยยกย่องให้สนีกเกอร์ Wool Runner ของ Allbirds เป็นสนีกเกอร์ที่ใส่แล้วนุ่มสบายที่สุด ถือว่าความสำเร็จที่สะท้อนให้เห็นว่า Allbirds กำลังมาถูกทางแล้ว

ที่น่าสนใจ Allbirds มีความทะเยอทะยานอย่างมาก พวกเขาไม่เคยมองว่าแบรนด์ Allbirds สมบูรณ์แบบ ตรงกันข้ามพวกเขามีความเชื่อว่า แบรนด์นี้ ยังมีพื้นที่สำหรับการปรับปรุงอยู่เสมอ โดยมีภารกิจหลักในการพัฒนาสนีกเกอร์ที่เรียบง่ายเหมือนธรรมชาติ กระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุดจะต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาให้น้อยที่สุด จนถึงขั้นไม่มีเลย และเมื่อถึงวันที่ทำสำเร็จแล้ว พวกเขาเชื่อว่าตอนนั้นก็คงจะมีภารกิจใหม่ๆ ให้พวกเขาต้องฝ่าฟันอย่างไม่รู้จบ กลายเป็นความสนุกของแบรนด์

...

Allbirds ปัจจุบันมีคอลเลกชั่นอื่นๆ นอกเหนือจากสนีกเกอร์แล้ว
Allbirds ปัจจุบันมีคอลเลกชั่นอื่นๆ นอกเหนือจากสนีกเกอร์แล้ว

ปัจจุบัน ซีรีส์สนีกเกอร์ของ Allbirds มีด้วยกัน 6 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ Running Shoes, Everyday Sneakers, High-Tops, Slip-ons, Boat Shoes และ Weather Repellent Shoes เหมือนกันทั้งของผู้ชายและผู้หญิง เพียงแต่ของผู้หญิงจะมีอีกรุ่นหนึ่งคือ Flats

นอกจากนี้ ในระยะหลัง Allbirds ได้มีผลิตภัณฑ์กลุ่มอื่นๆ เปิดตัวเพิ่มเติมในภายหลัง เช่น เสื้อฮู้ดดี้, เสื้อกันหนาว, เสื้อยืด, ถุงเท้า เป็นต้น

ต่อมาในปี 2018 ถือได้ว่าเป็นปีที่น่าตื่นเต้นของ Allbirds เพราะเป็นปีที่พวกเขาเปิดตัวรองเท้าที่มีชื่อว่า Tree ซึ่งเป็นรองเท้าที่ทำจากเส้นใยของต้นยูคาลิปตัส โดยรองเท้า Tree ที่ว่านี้ มีจุดขายและความโดดเด่นในแง่ของการเป็นสนีกเกอร์ที่มีความทนทาน ระบายอากาศได้ดี ไม่อับ ไม่มีกลิ่น คงความนุ่ม คืนพลังงานแก่ผู้สวมใส่ แล้วมันก็เป็นไปตามคาด ความนิยมและเสียงตอบรับจากผู้บริโภคเป็นไปในทิศทางที่ดีมาก

...

เป็นคนนอกจึงทำสนีกเกอร์อย่างคนนอก

ด้วยความที่แนวคิดในการทำสนีกเกอร์ของ Allbirds มีความแตกต่างจากแบรนด์ชั้นนำที่เราได้ยินชื่อมาอย่างยาวนานหลายสิบปี จึงทำให้ในช่วงต้นของการก่อตั้งแบรนด์ Allbirds ถูกคนในวงการสนีกเกอร์ ประเมินว่าแนวทางการพัฒนาสนีกเกอร์ของ Allbirds เป็นแนวคิดที่ไม่น่าจะประสบความสำเร็จ

แต่สองผู้ก่อตั้งมองตรงกันข้าม เพราะการเป็นคนนอกวงการสนีกเกอร์ ไม่เหมือนแบรนด์ใหญ่ๆ จึงทำให้พวกเขามีแนวคิดในการพัฒนาสนีกเกอร์ที่ต่างไปจากคนอื่น พวกเขามีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า สนีกเกอร์ Allbirds จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ทันทีที่มันวางจำหน่าย

กว่าจะมาเป็น Allbirds
กว่าจะมาเป็น Allbirds

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่มันจะประสบความสำเร็จ ทั้ง Tim Brown และ Joey Zwillinger ยอมรับว่าการที่พวกเขาไม่มีประสบการณ์มากนักในธุรกิจสนีกเกอร์ จึงได้รู้ซึ้งถึงความยากของการทำสนีกเกอร์ เพราะมันยากจริงๆ ในช่วงต้นพวกเขาต้องพบเจอกับข้อผิดพลาดอย่างมากมาย ใช้เวลาลองผิดลองถูกนานกว่าสองปี กว่าที่จะตกผลึกแล้วได้เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ากลับมา

มาต่อกันที่เรื่องของแนวคิด Allbirds เลือกที่จะวางจำหน่ายผ่านหน้าเว็บไซต์ของตัวเอง และร้านค้าปลีกที่มีอยู่ 11 สาขา (ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 22 สาขา) ตัดส่วนที่เป็นพ่อค้าคนกลางออก นั่นจึงทำให้บริษัทไม่ต้องแบ่งเงินให้กับพ่อค้าคนกลาง แล้วสามารถนำกลับเงินก้อนนั้นไปใช้ในการลงทุนด้านวัตถุดิบที่ดีที่สุดต่อสิ่งแวดล้อมต่อไปได้

...

สะกดคำว่ากั๊กไม่เป็น

ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มน้ำดำ-น้ำสี, สูตรลับไก่ทอดของผู้พันท่านหนึ่ง วิธีทอดไก่ของตัวตลก ใดๆ ก็ตามแต่ ล้วนเป็นความลับขั้นสุดยอด ที่ไม่อาจเผยแพร่ให้ใครล่วงรู้ได้ แต่ Allbirds กลับไม่ถือว่าแนวทางการพัฒนาสนีกเกอร์ต้องเป็นความลับ ตรงกันข้าม พวกเขาแบโผอย่างไม่มีปิดบังว่า สนีกเกอร์ของพวกเขาทำจากอะไร วัตถุดิบคืออะไร เอามาจากที่ไหน

ถ้าหากเราเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของ Allbirds จะมีรายละเอียดบอกชัดเจนว่าพวกเขาใช้ขนสัตว์ของแกะเมอริโน, ใช้เส้นใยจากต้นไม้ที่มาจากฟาร์มในแอฟริกาใต้, อ้อยจากประเทศบราซิล รวมถึงเส้นใยจากต้นยูคาลิปตัส พร้อมแนะนำขั้นตอนการผลิตเป็นคลิปวิดีโอ

นอกจากนี้ สนีกเกอร์ของ Allbirds ได้มีการนำขวดพลาสติกรีไซเคิลจำนวน 1 ขวด มาผลิตเป็นเชือกรองเท้า เลือกใช้น้ำมันถั่วละหุ่งมาผลิตเป็นอินโซล (Insole) หรือก็คือแผ่นพื้นรองเท้าที่อยู่ด้านใน และบรรจุภัณฑ์ของ Allbirds ทุกกล่อง ล้วนทำจากกระดาษแข็งรีไซเคิล 90 เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดเป็นวัสดุจากธรรมชาติทั้งสิ้น

adidas x Allbirds ที่ยังรอการเปิดตัว
adidas x Allbirds ที่ยังรอการเปิดตัว

เท่านั้นยังไม่พอ ในปี 2020 Allbirds และอาดิดาส (adidas) ได้ผนึกกำลังร่วมกันเพื่อผลิตสนีกเกอร์ที่จะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาแม้แต่นิดเดียว เพื่อไม่ให้โลกใบนี้ต้องเจอกับมลพิษมากไปกว่านี้

ตรงนี้น่าสนใจมาก เพราะการผนึกกำลังกับอาดิดาสในครั้งนี้ แปลว่าพวกเขาไม่ได้มองอาดิดาสเป็นคู่แข่ง แต่มองอาดิดาสในท่าทีที่เป็นมิตร เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ

ครั้งหนึ่ง Tim Brown กล่าวว่า ตัวเขาไม่เคยกังวลกับการเผยแพร่นวัตกรรมการผลิตสนีกเกอร์ให้กับคู่แข่งหรือคนภายนอก เพราะเขาเชื่อว่า การแบ่งปันความลับ ถือเป็นการแบ่งปันความรู้ เป็นการสร้างความยั่งยืนร่วมกันในการช่วยเหลือโลกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

Allbirds คือ Nike ของคนยุคนี้

วิ่งทะยานสู่ IPO
วิ่งทะยานสู่ IPO

แม้ว่า Allbirds จะไม่มีนวัตกรรมว้าวๆ ที่สามารถเรียกร้องความสนใจจากสนีกเกอร์เฮดเหมือนทางฝั่งไนกี้ ที่มีเทคโนโลยี Zoom และ Air หรือเทคโนโลยีโฟม Boost และ Lightstrike ของอาดิดาส แต่สิ่งที่ Allbirds นั่นคือความมุ่งมั่นในการทำสนีกเกอร์ที่เป็นมิตรต่อโลก

ถ้าหากไนกี้มีแท็กไลน์ชื่อดังอย่าง “Just do it” อาดิดาสมี “Impossible Is Nothing” แต่ฟากฝั่ง Allbirds พวกเขาสามารถสรรหาคำที่เหมาะสมกับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี โดยเลือกใช้คำว่า “When nature wins, we all win” ในการสื่อข้อความจากภายในสู่โลกภายนอก เพื่อให้ผู้ที่สวมใส่สนีกเกอร์ของ Allbirds เป็นคนพิเศษ และได้กลายส่วนหนึ่งที่ได้ปกปักรักษาโลกใบนี้

แน่นอนว่าข้อความที่ Allbirds ต้องการสื่อ ก็ไปถึงโลกภายนอกอย่างสวยงาม โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา Allbirds ประกาศระดมทุน Series E สำเร็จ ได้เงินราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป้าหมายถัดไปของแบรนด์สนีกเกอร์รักษ์โลกแห่งนี้ คือการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่จะเกิดเมื่อไรนั้น คงต้องรอกันต่อไป

ขณะที่มูลค่าบริษัทในปัจจุบันของ Allbirds ในเวลานี้ มีไม่ต่ำกว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือได้ว่าพวกเขาเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอีกบริษัทหนึ่งของโลก

สำหรับคุณผู้อ่านที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้วอยากได้ Allbirds มาใส่สักคู่ คงต้อบอกว่าขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะในประเทศไทยไม่มีตัวแทนวางจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ถ้าหากวันหนึ่งวันใด Allbirds เดินทางมาถึงประเทศไทย เชื่อว่าคงได้รับการตอบรับที่ดีจากคนไทยอย่างแน่นอน

ผู้เขียน: Wiwat Rungsaensuksakul
กราฟิก: Theerapong C.

ที่มา:

CNN [1], [2]