ยังไม่สายสำหรับวัยทำงาน หากใครยังไม่เริ่มต้นออมเงิน ไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินและรองรับในวัยเกษียณอายุ โดยที่ผ่านมามีสารพัดวิธีแนะนำการออมเงินแบบง่ายๆ ตั้งแต่การเริ่มเก็บสะสมแบงก์ใบละ 50 บาท หรือการหักเงิน 5-10% ของเงินเดือน
สมมติว่าเป็นรายจ่ายเก็บไว้เป็นเงินออมสะสมไว้ทุกเดือน และเมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี 10 ปี 20 ปี จะเห็นจำนวนเงินมากมาย จนสร้างรอยยิ้มและความภูมิใจ แม้ใช้จ่ายเงินเก่งแค่ไหนก็สามารถทำได้ หากลงมือทำอย่างจริงจัง
ยิ่งพวกมนุษย์เงินเดือนใช้เงินไม่เป็น น่ากลัวมากๆ ขาดการวางแผนที่ดี จึงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ และหลายคนคงสงสัยเมื่ออายุมากขึ้น เงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ทำไมรายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะนิสัยใช้เงินเกินตัว เงินทองไม่พอใช้ ยิ่งเครียดหนักกว่าสมัยได้เงินเดือนน้อยๆ เสียอีก
เริ่มตั้งแต่วันนี้ อาจจะล่าช้าบ้างสำหรับบางคน ควรจัดลำดับสำคัญการใช้จ่าย มีการบันทึกรายรับรายจ่ายให้ชัดเจน หรือจะโหลดแอปบัญชีรายรับรายจ่ายมาเป็นตัวช่วย น่าจะทำให้บรรลุเป้าหมายสามารถมีเงินออมได้ในแต่ละเดือน ส่วนคนที่ใช้เงินเป็นอยู่แล้ว ให้หาข้อมูลเริ่มต้นลงทุนให้เงินงอกเงย ผ่านช่องทางการลงทุนต่างๆ เช่น หุ้น กองทุนรวม ประกันชีวิต หรือจะลงทุนซื้อสลากออมทรัพย์ ซึ่งแบงก์รัฐออกจำหน่าย ให้ได้ลุ้นเงินรางวัล
...
สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องมีความมุ่งมั่นและมีวินัยทางการเงิน เพราะไม่เช่นนั้นคงยากที่จะบรรลุเป้าหมาย ลองประเมินการใช้เงินเริ่มจากช่วง 6 เดือนแรก หากทำไม่สำเร็จ ต้องกลับมาย้อนดูตัวเองและพฤติกรรม หากรายรับยังไม่พอต้องพยายามลดรายจ่ายให้มากที่สุด ในกรณีใช้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล ควรใช้อย่างมีวินัย จ่ายเงินให้มากที่สุดตรงตามกำหนด ไม่แนะนำให้จ่ายขั้นต่ำ เพื่อไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
หรือเคล็ดลับง่ายๆ นอกจากการกัดฟันเก็บแบงก์ 50 บาท หรือแบงก์ 20 ก็ได้ ไม่นำไปใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถนำเงินค่าใช้จ่ายประจำวัน ซึ่งบางวันอาจมีเงินเหลือ 20 บาท 100 บาท ให้นำไปเก็บออมอย่างสม่ำเสมอ อย่าเอาไปสมทบกับค่าใช้จ่ายของอีกวัน เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี จะเห็นตัวเงิน สามารถนำเงินเหล่านี้และควักเพิ่มอีกไม่มาก นำไปซื้อสลากออมสิน เริ่มซื้อด้วยจำนวนหน่วยไม่มาก ก่อนขยับซื้อเพิ่ม
ขณะที่วันหยุดประจำสัปดาห์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ หลายคนเจอปัญหามีการใช้จ่ายสูงทั้งค่าเที่ยว ค่าช็อปปิ้ง ค่าอาหาร และค่าจิปาถะหลายอย่าง โดยวิธีแก้ไขให้วางแผนใช้จ่ายให้ดีๆ กำหนดเป้าให้ชัดเจน อย่างเดือนหน้าจะมีวันหยุดยาว ต้องบังคับอย่าตามใจตัวเอง ประเมินคร่าวๆ อาจใช้จ่ายประมาณ 10-20% ของรายรับที่เข้ามาเท่านั้น และให้นึกเสมอ เพื่อเงินออมในภายภาคหน้าจะได้ไม่ลำบาก
แน่นอนมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องเสียภาษีสังคมทั้งงานแต่ง งานเลี้ยงส่ง งานบวช เพื่อนที่ทำงานคลอดลูก หากบางเดือนเจอไปหลายบาท อาจทำให้กระเป๋ากรอบได้ ลองมาใช้วิธีหักดิบในเดือนถัดไป เมื่อเงินเดือนออกให้หักเงินในส่วนที่จ่ายภาษีสังคมไปใส่ในเงินออมประมาณ 50% และพยายามอย่าออกงานปาร์ตี้สังสรรค์ โดยใน 1 เดือน อาจให้รางวัลตัวเองเฉพาะช่วงสิ้นเดือนเท่านั้นประมาณ 5% ของเงินเดือน หรือน้อยกว่านั้นยิ่งดี จากปกติเคยออกไปปาร์ตี้สัปดาห์ละครั้ง ให้เหลือเฉพาะสิ้นเดือน จะเห็นเงินเก็บเป็นกอบเป็นกำชัดเจน
ไม่รวมค่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย อื่นๆ ค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ค่าบุหรี่ ให้พยายามลดละเลิก ซึ่งดีต่อสุขภาพและเงินในกระเป๋า จงจำไว้ให้สังสรรค์อย่างชาญฉลาด เหงามากให้ดูหนังฟังเพลงอยู่ในบ้าน และวันหยุดให้ไปตลาดซื้อกับข้าวมาทำเอง ใครทำไม่เป็นเปิดยูทูบศึกษาวิธีการทำ คงไม่ยากเกินไป เมื่ออาหารเหลือให้เก็บใส่ถุงแช่ช่องฟรีซในตู้เย็นเก็บไว้กินภายหลัง แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป และเมื่อนำออกมาจากช่องฟรีซแล้ว ไม่ควรนำกลับเข้าไปแช่อีกรอบ
...
เคล็ดลับง่ายๆ เชื่อว่าทุกคนทำได้ โดยเฉพาะยุคนี้เศรษฐกิจไม่ดี เงินทองหายาก หากเก็บออมไว้จะดีต่อชีวิต แม้ไม่ร่ำรวยถึงขั้นเศรษฐี เพราะไม่รู้ว่าวันไหนโชคร้ายอาจตกงาน อย่างน้อยมีเงินเก็บไว้ใช้ในช่วง 6 เดือนระหว่างหางานทำก็ยังดี ไม่ต้องเดือดร้อนครอบครัวและพ่อแม่ หรือมีอันจะต้องใช้จ่ายหากเกิดการเจ็บป่วยขึ้นมา การซื้อประกันสุขภาพเป็นอีกหนึ่งตัวช่วย เมื่อมีเงินออมมากพอในการซื้อประกันโดยไม่ให้ตัวเองเดือดร้อนก็น่าจะดี.