ไม่เปลี่ยนก็ต้องถูกบังคับให้เปลี่ยน นี่คือผลการมาของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ทุกภาคส่วน ทุกอุตสาหกรรม การค้าวิกฤติอย่างหนัก และต้องปรับแผนเพื่อความอยู่รอด

ไม่เว้นแม้แต่เจไอบี (JIB) บริษัทค้าปลีกและจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รายใหญ่ในประเทศไทย ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่ง คุณสมยศ เชาวลิต ผู้ก่อตั้ง เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ได้เล่าถึงประสบการณ์ตลอดช่วง 6 เดือนแรกของปี 2021 และแผนที่จะสู้ต่อไปในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021

สินค้าหน้าร้านหายไป 40 เปอร์เซ็นต์

ปัญหาที่คนในวงการเทคโนโลยีรับรู้และทราบเป็นอย่างดีนั่นคือการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกำลังฟาดงวงฟาดงาใส่บรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แน่นอนว่าปัญหานี้ กระเทือนถึงเจไอบีด้วย

สมยศ ยอมรับว่า ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์สร้างผลกระทบต่อเจไอบีเรียบร้อยแล้ว ทำให้สินค้าที่เข้ามาในร้านและจำนวนรุ่นของสินค้าน้อยลง รวมถึงดีลเลอร์แต่ละร้านไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายเล็กก็ต้องแย่งสินค้ากัน เพราะของขาดตลาด

“จากเดิมที่เราเคยมีโน้ตบุ๊กจำหน่ายได้เดือนละหลายหมื่นเครื่อง พอเกิดโควิดสินค้าที่เข้ามาก็เหลือแค่ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนเดิม”

...


อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของสมยศ ประเมินคร่าวๆ ว่าโอกาสที่ปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์น่าจะบรรเทาลงและกลับมาใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2022

ซื้อครั้งเดียวแล้วต้องจบ

สิ่งที่น่าสนใจจากการเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็คือพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภค สมยศ เล่าว่า ในการแพร่ระบาดโควิดรอบแรกในปีที่แล้ว ผู้บริโภคเลือกซื้ออุปกรณ์การใช้งานในระดับแค่พอใช้งานได้เท่านั้น

ทว่าโควิดไม่มีทีท่าจบลงง่ายๆ ผู้บริโภคเลยเปลี่ยนรูปแบบการซื้ออุปกรณ์ไอทีเสียใหม่ โดยเลือกซื้ออุปกรณ์ที่มีความจริงจังขึ้น ซื้อแล้วจบในเครื่องเดียว เน้นสเปกเครื่องที่ดี เพื่อรองรับการใช้งานในระดับสูง และใช้งานในระยะยาว

นอกจากนี้แล้ว สมยศ ตั้งข้อสังเกตว่า จากการเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้ได้พบว่ามีลูกค้าที่มาซื้อสินค้าเพื่อนำไปเล่นเกมมากขึ้น จึงได้เห็นการถือกำเนิดของยูทูบเบอร์ (YouTuber) และสตรีมเมอร์ (Streamer) หน้าใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาชีพใหม่เหล่านี้ มีส่วนร่วมอย่างมากที่ช่วยผลักดันตลาดไอทีให้มีความคึกคักในช่วงการระบาดของโควิด

“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าคนไม่รู้จะทำอะไรอยู่แต่เฉพาะในบ้าน ออกไปไหนก็ลำบาก เกมจึงเป็นทางออกของคนไปในที่สุด”

ปรับหน้าเว็บไซต์รับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค

ในช่วงโควิด-19 นับตั้งแต่เริ่มระบาดช่วงแรกส่งผลให้เกิดการล็อกดาวน์ ซึ่งในเวลานั้น ลูกค้าในฝั่งออนไลน์ของเจไอบีโตเป็นอย่างมาก


“ปีที่แล้วที่เริ่มล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนปลายเดือนมีนาคมจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ช่วงนั้นเจไอบีกระทบหนักมาก เพราะสาขาถูกปิดหมด ทำให้ตลาดออนไลน์เติบโตเยอะมาก เทียบได้ก็โตประมาณ 4-5 เท่าเลยทีเดียว”

แต่ในรอบหลังๆ ของการแพร่ระบาด ก็ไม่ได้มีการปิดสาขาแล้ว จึงทำให้ยอดฝั่งออฟไลน์กลับมา โดยที่ยอดฝั่งออนไลน์ก็ยังโตควบคู่ได้ดี เพียงแต่ไม่เท่ากับช่วงเวลาไล่เลี่ยกันของปีที่แล้ว

“จุดแข็งของออฟไลน์คือลูกค้าสามารถสัมผัสสินค้าได้ ดูว่าสีของสินค้าตรงตามที่ต้องการหรือไม่ หน้าตาของจริงกับในรูปเหมือนกันหรือต่างกัน”

ทั้งนี้ พฤติกรรมของลูกค้าก็มีความเปลี่ยนแปลงให้เห็น นั่นคือ ตอนนี้ลูกค้าในฝั่งออฟไลน์เวลาที่มาที่ร้าน มาถึงร้านแล้วจะซื้อสินค้ากลับไปเลย

“อันนี้เป็นสิ่งที่แตกต่างจากแต่ก่อน จากเดิมเวลาลูกค้าเข้ามาดูสินค้าที่สาขาอาจจะแค่มาดูก่อน ยังไม่ซื้อ คนที่เข้ามาแล้วซื้อเลยอาจจะสัก 60-70 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้ไม่เป็นแบบนั้นแล้วเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เข้ามาในร้านแล้วซื้อกลับไปเลย”

ทางด้านสัดส่วนระหว่างลูกค้าออนไลน์และออฟไลน์ของเจไอบี ในเวลานี้ ฝั่งออฟไลน์ยังเป็นแกนหลัก โดยปีก่อนฝั่งออนไลน์มียอดขายประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และในปีนี้เชื่อว่า น่าจะไปถึง 25 เปอร์เซ็นต์ได้ เพราะสถานการณ์ของโควิดยังไม่จบ

...


พร้อมกันนี้ จากการเติบโตของหน้าร้านออนไลน์ในปีที่ผ่านมาจนดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ จึงทำให้สมยศ ตัดสินใจที่จะปรับโฉมหน้าตาของเว็บไซต์เสียใหม่ เนื่องจากเว็บที่เจไอบีใช้อยู่ในเวลานี้ เป็นการเขียนเว็บแบบเก่า ซึ่งถูกใช้มานานมากแล้ว

“เว็บก็เหมือนกับบ้านที่เราก่อสร้าง พอวันนี้เราอยากมีฟังก์ชันใหม่ๆ เราก็ต่อเติมไป แต่ต้องไม่ลืมว่าโครงสร้างมันยังเป็นโครงสร้างเดิม จึงมีความคิดที่จะทำเว็บไซต์ใหม่ทั้งหมด และน่าจะได้เห็นเว็บใหม่ได้ในปลายปีนี้”

สมยศ บอกด้วยว่า ในอีก 2 เดือนข้างหน้าเจไอบี จะเพิ่มเรื่องของการเคลมออนไลน์ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาที่สาขา

“ผมสังเกตว่าลูกค้าที่ซื้อออนไลน์ไม่สะดวกไปเคลมสินค้าที่สาขาบางคนไม่แน่ใจว่าต้องเคลมที่สาขาใด จึงทำให้เกิดแนวคิดที่ว่าควรมีบริการรับสินค้าที่จะเคลมจากที่บ้านของลูกค้าโดยตรงไปเลย ซึ่งบริการนี้บวกค่าบริการนิดหน่อยในส่วนของการขนส่ง ไม่ได้เน้นเอากำไร เน้นอำนวยความสะดวก”

ห้าม “คน” ขุดเหมืองไม่ได้

นอกจากนี้แล้ว วงการไอทีได้เกิดกระแสความต้องการสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น หรือที่เรารู้จักกัน นั่นคือ เหรียญคริปโตฯ (Cryptocurrency) จนทำให้ผู้คนจำนวนมากแห่ซื้ออุปกรณ์ไอทีกันเป็นทิวแถว ทั้งฮาร์ดดิสก์ ไดร์ฟ (Hard disk drive) และการ์ดจอ (Graphic card) จนกลายเป็นสินค้าขาดตลาด ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องการซื้อฮาร์ดดิสก์ ไดร์ฟหรือการ์ดจอไปใช้งาน ไม่ได้ซื้อไปทำฟาร์มเหมืองคริปโตเคอร์เรนซี

ด้วยความที่คริปโตเคอร์เรนซี มีความเย้ายวน มีผลตอบแทนที่สูง จึงเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ที่จะทำให้คนอยากเข้าไปทำฟาร์มเหมืองเหรียญดิจิทัล และด้วยความต้องการดังกล่าว จึงทำให้สินค้าไอทีโตและมีความต้องการสูง

...

อย่างไรก็ตาม ในมุมของร้านค้า อุปกรณ์อย่างการ์ดจอและฮาร์ดดิสก์ มันมีจำนวนจำกัด ไม่ได้มีจำนวนที่เยอะแยะจนถึงขั้นขายปลีกแยกได้ง่ายดาย

“ลองนึกภาพตาม สมมติว่าเราขายเครื่องเดือนละหมื่นเครื่อง การ์ดจอเข้ามาก็ประมาณ 1.5 - 2 หมื่นชิ้น แต่ถ้าการ์ดจอมีเข้ามาแค่ประมาณ 5 พันชิ้น คนขายอย่างเราก็ต้องเก็บไว้ให้ลูกค้าที่ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับไปใช้งานจริง ถามว่าส่วนที่เหลือพอจะมีขายแยกหรือไม่ คำตอบคือ ‘มี’ แต่ถ้ามันเหลือน้อย แล้วมีเครื่องที่จำเป็นต้องใช้การ์ดจอ ถ้าของไม่มีลูกค้าก็ไปซื้อที่อื่น เพราะฉะนั้นทางร้านก็ต้องกันบางส่วนสำหรับเครื่องประกอบให้ลูกค้า”

สมยศ อธิบายต่อไปว่า สาเหตุที่ในบางครั้งไม่สามารถขายการ์ดจอให้กับเกมเมอร์หรือนักขุดให้ไม่ได้จริงๆ เหตุผลสำคัญเป็นเพราะว่าเวลาที่ร้านสั่งสินค้ามา ทางร้านไม่ได้สั่งมาแค่การ์ดจอเพียงอย่างเดียว

“ในช่วงที่สินค้าขาดตลาด ทางร้านก็ถูกพ่วงโดยซัพพลายเออร์ เช่น คุณจะซื้อการ์ดจอ 20 ชิ้น แต่ก่อนหน้านั้นคุณต้องซื้อเมนบอร์ดพ่วงไปก่อน 40 ชิ้น เพาเวอร์ซัพพลาย 40 ชิ้น แบบนี้ถ้าขายการ์ดจอแยก แล้วสินค้าที่ถูกพ่วงซื้อมาจะขายใคร” สมยศ ทิ้งท้าย.

...