เทคโนโลยีสวมใส่ (Wearable) ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์เรามากขึ้น รู้จักกันดีเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ติดตามกิจกรรมการออกกำลังกาย เพื่อเป้าหมายการมีสุขภาพที่ดี ช่วยแนะนำการกำจัดความเครียด ติดตามดูแลสุขภาพของหัวใจและคอยเตือนหากพบอะไรที่น่าเป็นห่วง

ล่าสุดอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์ได้ถูกพัฒนาเทคโนโลยีมาอยู่บนข้อมือของผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานเพื่อทำการตรวจสอบสุขภาพได้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลาตามที่ต้องการ คือเครื่องวัดความดันโลหิต กับการมาในรูปแบบของสมาร์ทวอตช์หรือนาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ

ออมรอน (Omron) ผู้ผลิตเครื่องมือที่ใช้สำหรับทางการแพทย์ ระบุว่า Heart Guide ซึ่งเป็นอุปกรณ์วัดความดันโลหิตผ่านทางข้อมือได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ เพื่อผลิตออกสู่ตลาดได้แล้ว หลังจากอุปกรณ์นี้ถูกเปิดเผยมาก่อนหน้าสักระยะหนึ่งแล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุมัติ

ผู้บริหารของออมรอนกล่าวว่า ได้ใช้เวลาเกือบ 2 ปีกับการยื่นขอการรับรองดังกล่าว ซึ่งนานกว่าที่คาดหวังไว้ โดยยืนยันว่าอุปกรณ์นี้สามารถวัดค่าความดันทางการแพทย์ได้ถูกต้อง ผ่านสายนาฬิกาที่ติดข้อมือสามารถบีบและพองตัวเพื่อการวัดค่า แต่สายดังกล่าวไม่สามารถใช้วัสดุจากหนังได้

ตอนนี้ออมรอนสามารถนำสมาร์ทวอตช์ HeartGuide ไปติดไว้ที่ข้อมือของผู้ใช้งานได้และสามารถใช้งานหรือติดตามความดันโลหิตได้ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยการชาร์จแบต ครั้งหนึ่งประมาณครั้งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์ใช้วัดค่าความดันได้ 30-50 ครั้ง และไม่เพียงการวัดค่าความดันเท่านั้น อุปกรณ์นี้จะเก็บข้อมูลไว้เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ยังมีแผนการที่จะใช้แอปพลิเคชันเพื่อเสนอแนะกับแนวโน้มและข้อมูลเชิงลึก โดยการให้ผู้ใช้แบ่งปันข้อมูลแต่อาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก

...

ออมรอนได้เริ่มเตรียมเปิดให้พรีออเดอร์ในตลาดสหรัฐฯแล้ว และจะทยอยจัดส่งวันที่ 8 ม.ค.62 ราคาจำหน่ายที่ 499 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีให้เลือก 3 ขนาด ส่วนคุณสมบัติการทำงานด้านอื่นเหมือนสมาร์ทวอตช์ทั่วไป การติดตามการออกกำลังกายเป็นต้น สำหรับบ้านเราผมไม่แน่ใจว่าทางผู้นำเข้าจะต้องขออนุมัติการใช้อุปกรณ์นี้ก่อนการจำหน่ายหรือไม่

ขณะเดียวกัน แอปเปิลเองที่ผ่านมาก็ได้มีการจดสิทธิบัตรระบบการวัดความดันโลหิตด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าอาจจะนำไปต่อยอดกับ Apple Watch เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการวัดความดันโลหิตได้เพิ่มเติมในอนาคต และระบบดังกล่าวอาจจะอยู่ในรูปแบบของนาฬิกา, สายรัดข้อมือ, กำไลข้อมือ หรืออยู่ในอุปกรณ์มือถือ

นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งในอนาคตอาการหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองมนุษย์เราจะทราบก่อนผ่านการเตือนจากอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันนี้ได้!

หนุ่มดิจิทัล
cybernet@thairath.co.th