ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ พาเยี่ยมชม Microsoft Cybercrime Center ใจกลาง สนง.ใหญ่ไมโครซอฟท์ หน่วยสอดแนมเฝ้าระวังภัยคุกคามไซเบอร์ และปกป้องผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ที่เดินเข้าไม่ลึก แต่มีความลับมากมายเหลือเกิน...

ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสดีที่ได้เข้าเยี่ยมชม ศูนย์อาชญากรรมไซเบอร์ (Microsoft Cyber crime Center) ของไมโครซอฟท์ ที่อยู่ที่เมืองเรดมอนด์ ส่วนหนึ่งของสำนักงานใหญ่ ภายในตึก 3 ชั้น มีหน่วยงานที่ทำงานแบบลึกลับ อยู่ที่ชั้น 1 ของเรดเวสต์แคมปัส ที่นี่ถือเป็นกองบัญชาการในการเฝ้าระวัง สอดส่อง และติดตามภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ของหน่วย Digital crime Unit ถือเป็นหนึ่งในหัวหอกของทีมรับมือภัยด้านไซเบอร์ ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตอย่างมหาศาล


ภัยไซเบอร์ที่พบเจอกันในเวลานี้มีทั้งการเข้ายึดอุปกรณ์ การขโมยข้อมูลส่วนตัวออกจากเครื่อง ส่งสแปมเมล ทำฟิชชิ่งปลอมแปลงหน้าเว็บ ที่เน้นเป้าหมายคือ บัญชีเงินฝากในธนาคารอันเป็นปัญหาหนักที่พบทั่วโลก

...


หน่วยงานที่มีทีมงานราว 40 คน ที่มีทั้งอัยการ นักสืบ นักวิทยาศาสตร์เศรษฐกิจ โดยวิศวกร และผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจ รวมกว่าร้อยคนที่กระจายอยู่ 30 ประเทศทั่วโลก มีหน้าที่ในการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานของไมโครซอฟท์ และเครือข่ายคลาวด์ ด้วยการต่อต้านมัลแวร์ที่มีอยู่ทั่วโลก ตลอดจนป้องกันช่องโหว่ด้านความปลอดภัยบนซอฟต์แวร์ที่เกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยที่ผ่านมามัลแวร์สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจกว่า 3 พันล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจากสถิติสามารถประเมินได้ว่าผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ทุกๆ 12 คนจะตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์ 1 คน หรือ ราวๆ 1 ล้านคนต่อวัน


การทำงานของศูนย์นี้เป็นการใช้ยุทธวิธีที่รวมกันระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลบนบิ๊กดาต้า และการพิสูจน์หลักฐานสมัยใหม่ ผนวกกับกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งาน และควบคุมข้อมูลส่วนตัวไม่ให้รั่วไหล และคุ้มครองให้ผู้ใช้งานสูงอายุ และเด็กปลอดภัย


ศูนย์อาชญากรรมไซเบอร์ ทำหน้าที่ในการต่อต้านภัยคุกคามจากการล่อลวง ข้อมูลเท็จ โดยการสร้างอีเมลหรือหน้าเพจเพื่อให้ข้อมูลเท็จ หวังเอาทรัพย์สินจากเหยื่อ คาดว่ามีผู้ตกเป็นเหยื่อในสหรัฐอเมริกามากกว่า 3.3 ล้านราย และสูญเงินไปกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์

ไมโครซอฟท์ และ AARP Fraud Watch ร่วมมือกันในการเชิญสมาชิก AARP มาเยี่ยมชมศูนย์อาชญากรรมไซเบอร์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงภัยของการหลอกลวงออนไลน์ แก่ผู้สูงอายุ รวมทั้งวิธีการแก้ไขเมื่อตกเป็นเหยื่อด้วย

...


อีกหนึ่งความตั้งใจของทีมงาน คือ การปกป้องเด็กบนโลกออนไลน์ ด้วยเทคโนโลยี โฟโต้ ดีเอ็นเอ ที่ร่วมมือกับวิทยาลัย ดาร์ทเมาท์ ในการช่วยเหลือเพื่อตรวจหาและยับยั้งการเผยแพร่ภาพการละเมิดทางเพศเด็ก บนโลกออนไลน์ โดยการนำเอาภาพขาวดำ แล้วนำเอาค่าต่างๆ ไปเทียบกับฐานข้อมูลภาพที่ผิดกฎหมายในฐานข้อมูล เพื่อนำส่งเป็นหลักฐานทางดิจิตอลแก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อดำเนินการทางกฎหมาย โดยมีความร่วมมือกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และองค์การอื่นๆ อีกกว่าร้อยราย

...


นอกจากนี้ ยังมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การระบาดของบ็อตเน็ต หรือโปรแกรมร้ายที่แฮกเกอร์สร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ตกเป็นเหยื่อเพื่อนำไปใช้ยิงสแปมเมล หรือโจมตีแบบ DDoS ใส่เว็บไซต์ต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วโลก นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา เช่น ยุโรปตะวันตก อเมริกาใต้ อินเดีย จีน หรือ แม้แต่ประเทศไทย โดยพบว่า มีกว่า 3.2 ล้านไอพี ที่มีความเสี่ยงถูกบ็อตเน็ตเล่นงาน และโดเมนเว็บไซต์กว่า 300 โดเมนที่ติดเชื้อมัลแวร์บ็อตเน็ต ไมโครซอฟท์จึงต้องคุ้มครองผู้ใช้งานเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ตกเป็นเหยื่อถูกโจมตี

...


หลายๆ ห้อง หลายๆ ส่วนในศูนย์แห่งนี้ ถูกปิดเป็นความลับไม่ให้คนภายนอกได้รู้ เพื่อรักษาความลับในการทำงาน ทำให้การเยี่ยมชมครั้งนี้ ดูตื่นเต้น เพราะทุกอย่างดูเป็นความลับไปหมด อีกทั้งการทำงานอย่างจริงจังที่เห็นได้ ทำให้เชื่อได้ว่าไมโครซอฟท์จริงจังกับเรื่องนี้อย่างมาก เพื่อลดความเสี่ยงต่อภัยคุกคามไซเบอร์ ที่มีความรุนแรง และสร้างความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ.