ซิสโก้ เผยรายงานความปลอดภัย องค์กรมั่นใจน้อยลง ขณะที่ผลกระทบต่อจากผู้บุกรุกเพิ่มมากขึ้น แนะให้ เสริมความแข็งแกร่งรับมือกับการโจมตีจุดอ่อน โครงสร้างพื้นฐานรุ่นเก่า และข้อมูลรั่วผ่านเบราว์เซอร์ ช่วยรับภัยคุกคามที่ไม่คาดฝัน...

รายงานด้านความปลอดภัยประจำปี 2559 ของซิสโก้ ที่สำรวจตรวจสอบแนวโน้มความปลอดภัยไซเบอร์และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภัยคุกคาม เปิดเผยว่า มีองค์กรทั่วโลกเพียง 45% เท่านั้นที่มั่นใจในสถานะความปลอดภัยของตนเอง ขณะที่ปัจจุบันผู้บุกรุกดำเนินการโจมตีอย่างซับซ้อน รุนแรง และรวดเร็ว แม้ว่าผู้บริหารอาจไม่แน่ใจเกี่ยวกับความแข็งแกร่งด้านความปลอดภัยขององค์กร แต่ผู้บริหาร 92% เห็นพ้องต้องกันว่า หน่วยงานกำกับดูแลและนักลงทุนจะคาดหวังให้บริษัทต่างๆ จัดการความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้อย่างเหมาะสม  ผู้บริหารเหล่านี้ดำเนินมาตรการเพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาอนาคตขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่องค์กรพยายามปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้เป็นรูปแบบดิจิตอล
 
รายงานดังกล่าวเน้นย้ำถึงปัญหาท้าทายที่องค์กรธุรกิจต้องเผชิญ โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของผู้โจมตี  ปัจจุบัน แฮ็กเกอร์ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ “ถูกกฎหมาย” เพื่อเริ่มต้นการโจมตีอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างผลกำไร นอกจากนี้ ลำพังเพียงแค่การโจมตีโดยตรงโดยอาชญากรไซเบอร์ที่ใช้มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) สามารถสร้างรายได้ถึง 34 ล้านดอลลาร์ต่อปี (หรือ 1,224 ล้านบาทต่อปี) และอาชญากรเหล่านี้ยังคงดำเนินการโจมตีอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สะทกสะท้านต่อมาตรการป้องปรามของหน่วยงานกำกับดูแล
 
องค์กรธุรกิจต้องรับมือกับปัญหาท้าทายด้านความปลอดภัยที่ยับยั้งความสามารถขององค์กรในการตรวจจับการโจมตีทางไซเบอร์ รวมทั้งบรรเทาปัญหา และกู้คืนระบบภายหลังการโจมตี  โครงสร้างพื้นฐานรุ่นเก่า รวมถึงโครงสร้างองค์กรและแนวทางปฏิบัติที่ล้าสมัย ทำให้องค์กรตกอยู่ในความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
 
รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมมือกันมากขึ้น และลงทุนในกระบวนการเทคโนโลยีและบุคลากร เพื่อต่อสู้กับอาชญากรที่มุ่งโจมตีอุตสาหกรรมต่างๆ
 
ประเด็นสำคัญจากผลการศึกษาวิจัย ได้แก่

...

 
·ความเชื่อมั่นลดลง ความโปร่งใสเพิ่มขึ้น: ไม่ถึงครึ่งหนึ่งขององค์กรธุรกิจที่ตอบแบบสอบถามมั่นใจในความสามารถของตนเองในการระบุขอบเขตความเสี่ยงของเครือข่ายและแก้ไขความเสียหาย  แต่ผู้บริหารฝ่ายการเงินและธุรกิจส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าหน่วยงานกำกับดูแล และนักลงทุนคาดหวังว่าบริษัทต่างๆ จะมีความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น ในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในอนาคต แนวโน้มนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องความปลอดภัยได้รับความสนใจจากคณะกรรมการบริหารเพิ่มมากขึ้น
 
·โครงสร้างพื้นฐานรุ่นเก่า: ในช่วงปี 2557 ถึง 2558 จำนวนองค์กรที่ระบุว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของตนเองมีความทันสมัยลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ ผลการสำรวจชี้ว่า 92 เปอร์เซ็นต์ของอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตมีช่องโหว่ที่รู้จัก 31 เปอร์เซ็นต์ของอุปกรณ์ทั้งหมดที่วิเคราะห์ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือบำรุงรักษาโดยผู้ขายอีกต่อไป
 
·ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMB) คือจุดอ่อน: ขณะที่องค์กรต่างๆ สำรวจซัพพลายเชนและความร่วมมือกับองค์กรธุรกิจขนาดเล็กอย่างใกล้ชิด ก็พบว่าองค์กรเหล่านี้ใช้เครื่องมือและกระบวนการป้องกันภัยคุกคามน้อยกว่า ตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 2557 ถึง 2558 จำนวน SMB ที่ใช้ระบบรักษาความปลอดภัยบนเว็บลดลงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อองค์กรต่างๆ อันเนื่องมาจากจุดอ่อนบนโครงสร้าง
 
·เอาต์ซอร์สเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง: ภายใต้แนวโน้มในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากร องค์กรทุกขนาดตระหนักถึงคุณประโยชน์ของบริการเอาต์ซอร์สที่ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นบริการให้คำปรึกษา การตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัย และการตอบสนองต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ธุรกิจ SMB ซึ่งมักจะขาดแคลนทรัพยากรสำหรับการรักษาความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ กำลังดำเนินการปรับปรุงแนวทางด้านความปลอดภัยด้วยการใช้บริการเอาต์ซอร์ส ซึ่งมากถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558 เปรียบเทียบกับ 14 เปอร์เซ็นต์ ในปีก่อนหน้า
 
·การเปลี่ยนไปโจมตีเซิร์ฟเวอร์: อาชญากรออนไลน์ได้เปลี่ยนไปโจมตีเซิร์ฟเวอร์ที่มีช่องโหว่ เช่น เซิร์ฟเวอร์ของ WordPress เพื่อสนับสนุนการโจมตี โดยใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อจุดประสงค์ร้าย  ตัวอย่างเช่น จำนวนโดเมน WordPress ที่อาชญากรใช้เพิ่มขึ้นถึง 221 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงตุลาคม 2558
 
·การรั่วไหลของข้อมูลบนเบราว์เซอร์: แม้ว่าทีมงานฝ่ายรักษาความปลอดภัยมักจะมองว่าส่วนขยายของเบราว์เซอร์ที่เป็นอันตราย (malicious browser extensions) ถือเป็นภัยคุกคามระดับต่ำ แต่ก็อาจเป็นช่องทางที่ทำให้ข้อมูลรั่วไหล โดยส่งผลกระทบต่อองค์กรต่างๆ มากกว่า 85% แอดแวร์ (Adware), โฆษณาที่มีมัลแวร์แฝงอยู่ (Malvertising) และแม้กระทั่งเว็บไซต์ทั่วไปหรือคอลัมน์แจ้งข่าวมรณกรรม อาจนำไปสู่ปัญหาข้อมูลรั่วไหลสำหรับผู้ใช้ที่ไม่ได้อัพเดตซอฟต์แวร์อย่างสม่ำเสมอ

 
·จุดบอดของ DNS (Domain Name Service): เกือบ 92% ของมัลแวร์ “อันตราย” ใช้ DNS เป็นความสามารถหลักมักจะเป็น “จุดบอด” ด้านความปลอดภัย เพราะโดยทั่วไปแล้วทีมงานฝ่ายรักษาความปลอดภัย และผู้เชี่ยวชาญ DNS ทำงานในกลุ่มไอทีคนละกลุ่มภายในบริษัท และไม่ค่อยได้ประสานงานร่วมกัน
 
·ตรวจจับได้รวดเร็วขึ้น: แวดวงอุตสาหกรรมประเมินว่าเวลาที่ใช้ในการตรวจจับอาชญากรรมไซเบอร์อยู่ที่ประมาณ 100 ถึง 200 วัน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่นานเกินไปจนไม่อาจยอมรับได้ ซิสโก้ได้ลดระยะเวลาดังกล่าวจาก 46 เป็น 17.5 ชั่วโมง นับตั้งแต่ที่รายงานด้านความปลอดภัยกลางปี 2558 ของซิสโก้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ การลดระยะเวลาการตรวจจับจะช่วยลดความเสียหายจากการโจมตีทางไซเบอร์ ลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อลูกค้า และโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก
 
·ความน่าเชื่อถือคือสิ่งสำคัญ: ขณะที่องค์กรต่างๆ ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ระบบดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น ข้อมูล อุปกรณ์ เซ็นเซอร์ และบริการต่างๆ จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดความต้องการใหม่ๆ สำหรับความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจสำหรับลูกค้า

นายจอห์น เอ็นสจ๊วต รองประธานอาวุโสฝ่ายรักษาความปลอดภัยของซิสโก้ กล่าวว่า ระบบการรักษาความปลอดภัยควรปรับสภาพได้ตามการออกแบบ ความเป็นส่วนตัว และความรับผิดชอบที่โปร่งใส ด้วย IoT ที่เกิดขึ้นในทุกธุรกิจ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีจะต้องสร้าง ลงทุน และดำเนินการได้ในทุกภาคส่วน เราไม่ควรสร้างหนี้ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีอีกต่อไป แต่เราต้องเผชิญความท้าทายที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้

...


ด้าน นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนของซิสโก้ กล่าวว่า แนวโน้มอินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ส หรือ IoT และ Digitization เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัยจึงต้องถูกสร้างขึ้น และใช้งานในทุกภาคธุรกิจ ขณะที่ภัยคุกคามส่วนใหญ่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลเชิงลึกในรายงาน Annual Security Report ของซิสโก้ชี้ให้เห็นว่าผู้โจมตีมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ด้านความปลอดภัย และมีการใช้ทรัพยากรออนไลน์ที่ถูกกฎหมายเพื่อทำการโจมตีเพิ่มมากขึ้น

ศูนย์ประสานงานการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ (ThaiCERT) เปิดเผยว่า คนไทย 48% มีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยทางออนไลน์ และมีการรายงานปัญหาด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ 2,534 กรณีในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยครอบคลุมถึงปัญหาการปลอมแปลง การบุกรุก และโค้ดอันตราย ขณะที่การลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้น แต่ไซเบอร์ซีเคียวริตี้มีความซับซ้อนมากขึ้น และผู้โจมตีไม่เคยละความพยายามที่จะโจมตีองค์กรธุรกิจในแต่ละปี

...

ทุกวันนี้มาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยจะต้องมีความสอดคล้องกับทิศทางธุรกิจ มีการปรับใช้อย่างเหมาะสมในระดับโครงสร้าง และผสานรวมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องรับทราบและปรับใช้กลยุทธ์ด้านความปลอดภัย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่ไม่คาดคิด ขณะที่บริษัทไอทีจะต้องพัฒนาโซลูชั่นที่เชื่อถือได้สำหรับผู้ใช้งานและองค์กร.