ยูไอเอช รุกหนัก เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษซุปเปอร์คลัสเตอร์ ขยายเส้นทางไฟเบอร์ออฟติกสำรองเพิ่ม 1 เส้นทาง เสริมศักยภาพเครือข่ายพร้อมบริการลูกค้า รับโค้งสุดท้ายปลายปี...
นายสันติ เมธาวิกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (ยูไอเอช) กล่าวว่า ยูไอเอช ได้ดำเนินการตามแผนงานติดตั้งระบบเครือข่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 โดยอยู่ในแผนการลงทุนทั้งปีตามงบประมาณที่ตั้งไว้ 800 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายศักยภาพเครือข่าย บรอดแบนด์
สำหรับไฟเบอร์ออฟติกเส้นทางสำรอง (Redundant Fiber Optic) ได้ขยายเพิ่มอีก 1 เส้นทาง จากเส้นทางสำรองเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยเส้นทางไฟเบอร์ออฟติกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เส้นทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จึงทำให้ในขณะนี้ ยูไอเอชมีเส้นทางไฟเบอร์ออฟติกทั้งเส้นทางหลักและสำรองพร้อมในการให้บริการลูกค้าองค์กรได้ดียิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน จะสามารถช่วยให้ลูกค้าองค์กรกลุ่ม การโรงแรม ธนาคาร ธุรกิจค้าปลีก ที่มีการขยายข้อมูลการรับบริการของลูกค้าที่มาใช้บริการ ตลอดจนข้อมูลในการสื่อสารมีปริมาณสูงขึ้น มีความมั่นใจยิ่งขึ้น ด้วยเป็นการป้องกันความเสี่ยงหากในอนาคตเกิดกรณีที่เส้นทางเครือข่ายหลัก ไม่สามารถรองรับปริมาณข้อมูลในขณะนั้นได้ ซึ่งเส้นทางสำรองใหม่นี้ได้ติดตั้งและพร้อมรองรับการให้บริการภายในสิ้นปี 2558
นอกจากนี้ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ยูไอเอช ได้ทำกิจกรรมการตลาดในต่างจังหวัด มุ่งเน้นจังหวัดและภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยได้ขยายพันธมิตรทางธุรกิจในภูมิภาค “ซิสเต็มส์ อินทริเกรเตอร์” (System Integrator หรือ SI) ที่มีศักยภาพการเข้าถึงตลาดอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทั่วประเทศ และเสนอบริการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย ซึ่งยูไอเอชมีแนวทางการทำงานร่วมกับซิสเต็มส์ อินทริเกรเตอร์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ลูกค้าได้ผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีความเสถียรมากที่สุด
...
ทั้งนี้ ซิสเต็มส์ อินทริเกรเตอร์ ในภาคใต้ ยูไอเอชให้บริการผ่าน บริษัท อินเตอร์คอนเน็ค โซลูชั่น จำกัด บริษัท ไอร์แลนด์ เทคโนโลยี จำกัด และ บริษัท เอ็กซเพรส ดาต้า จำกัด รวมถึงตัวแทนภาคใต้รายอื่นที่ได้จัดกิจกรรมทางการตลาดร่วมกัน เช่น การจัดงานสัมมนา โรดโชว์ และกิจกรรมสานสัมพันธ์กับลูกค้า ผู้ใช้บริการในเมืองเศรษฐกิจ เป็นต้น
นายสันติ กล่าวด้วยว่า ส่วนการทำตลาดที่ภาคเหนือ มีซิสเต็ม อินทริเกรเตอร์ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายทั้งภูมิภาค ได้แก่ บริษัท โมวาซี เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการโทรคมนาคม และเป็นพันธมิตรทางธุรกิจยูไอเอชในการให้บริการโทรคมนาคม ส่วนตัวแทนจำหน่ายในภาคอื่นๆ เช่น ภาคตะวันออก จะมี หจก.สยามอีบิสซิเนส บริษัท ไทยซิสเต็ม อินทิเกชั่น จำกัด บริษัท อินเตอร์เน็ตอีสท์ จำกัด และบริษัท ไทโคเจแปน จำกัด
"เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มีความชัดเจนเรื่องเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มซุปเปอร์คลัสเตอร์ เช่น คลัสเตอร์ดิจิทัล และกลุ่มคลัสเตอร์เป้าหมาย ทำให้จังหวัดที่เป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนา มีแนวโน้มกลับมาดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ และเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้มีโอกาสเติบโตได้ดียิ่งขึ้นในระยะยาว เพราะความต้องการใช้เทคโนโลยี บรอดแบนด์จะมีสูงขึ้นทั้งในกลุ่มองค์กรจนถึงกลุ่ม SME" นายสันติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยูไอเอช มีความพร้อมที่จะให้บริการบรอดแบรนด์ความเร็วสูง เชื่อมต่อไปยังเครือข่ายทั่วโลก เนื่องจากปัจจุบันมีจุดเชื่อมต่อเครือข่ายบรอดแบนด์ไว้ 7 แห่งภายในประเทศ ที่จังหวัด เชียงราย ตาก หนองคาย มุกดาหาร สระแก้ว และสงขลา ที่อำเภอหาดใหญ่ และอำเภอด่านนอก เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศ กัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย ขณะวางจุดเชื่อมต่อ Point of Presence (PoP) ไว้ที่ประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง ทำให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่าย บรอดแบนด์ เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง.