ซิสโก้ เร่งขยายตลาดระบบความปลอดภัยข้อมูล เผยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เลือกโซลูชั่นครบชุดรองรับเทรนด์ใช้อินเทอร์เน็ตทุกที่ ก้าวสู่ Digital University เต็มรูปแบบ...
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เทคโนโลยีเครือข่ายและระบบความปลอดภัยกำลังได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงภาคการศึกษา ทำให้ปัจจุบันซิสโก้มีลูกค้าที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นของบริษัทเป็นจำนวนมาก ส่วนในภาคการศึกษาก็มีสถาบันที่สนใจเลือกใช้ 5-6 แห่ง ทำให้บริษัทมีรายได้จากลูกค้ากลุ่มดังกล่าวราว 10% ของรายได้ทั้งหมด และยังมีรายได้จากลูกค้าหลักในกลุ่มต่างๆ อาทิ ธุรกิจโทรคมนาคม ภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และกลุ่มธุรกิจทั่วไป
สำหรับแนวโน้มเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตเพื่อรองรับการใช้งานของผู้บริโภคในปัจจุบัน ได้แก่ อุปกรณ์โมบายล์ เทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง แอพพลิเคชั่น เทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและระบบวิเคราะห์ข้อมูล และระบบตรวจจับเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันเทคโนโลยีความปลอดภัยก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งซิสโก้ได้นำเสนอเพื่อตอบโจทย์การเรียนการสอน การบริหารจัดการด้านความปลอดภัย รวมถึงการวิจัยและเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเทรนด์ความปลอดภัยข้อมูลจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากบริการด้านระบบความปลอดภัยข้อมูลถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ซิสโก้ให้ความสำคัญ รวมถึงคลาวด์ คอมพิวติ้ง การให้บริการ และการควบรวมกิจการของบริษัทต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจของซิสโก้
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ติดตั้งเครือข่ายหลัก (Core Network) โซลูชั่นไวร์เลส และโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยของซิสโก้ ครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ส่วนบุคคลของบุคลากรได้ทุกที่ทุกเวลา เนื่องจากรูปแบบการเรียนการสอนในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบไอทีและอุปกรณ์รูปแบบใหม่ ทำให้สถาบันการศึกษาต้องการนำข้อมูลและช่องทางต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางให้นักศึกษาสามารถเข้าถึง เพื่อมุ่งสู่การเชื่อมต่อข้อมูลและอุปกรณ์เข้ากับอินเทอร์เน็ตพร้อมทั้งเตรียมพร้อมความปลอดภัยด้านระบบและข้อมูลอีกด้วย
นางถนอมพร เลาหจรัสแสง ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ มีเป้าหมายในการยกระดับการเรียนการสอน การวิจัย และการวิชาการ ให้ทันสมัยตามรูปแบบการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 พร้อมกับเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ภายใต้แนวคิด Digital Life Digital University
...
โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานไอทีในด้านต่างๆ ได้แก่ ระบบไวไฟซึ่งถือเป็นอันดับต้นๆ ของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ที่มีพร้อมให้บริการครอบคลุมกว่า 2,700 จุด เพื่อรองรับการใช้งานจากนักศึกษาและบุคลากรกว่า 50,000 คน ซึ่งมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากอุปกรณ์ส่วนตัวกว่า 74,000 เครื่อง โดยมีจำนวนอุปกรณ์ที่เข้าใช้งานสูงสุดในขณะเดียวกันถึง 20,000 เครื่อง เพิ่มจากเดิมที่มีจำนวน 5,000 เครื่องในช่วงก่อนหน้า ซึ่งมีพื้นที่ให้บริการไวไฟเพียง 600 จุด และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อาทิ แอพพลิเคชั่นและระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ที่ได้บูรณาการผ่านระบบออนไลน์กว่า 1,300 วิชา เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้ตั้งเป้าลดการบรรยายและให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ซึ่งจากการสำรวจนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่ากว่า 92% นิยมนำอุปกรณ์ส่วนตัวเข้ามาเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตภายในสถาบัน เพราะชื่นชอบการเข้าถึงเนื้อหาการเรียนที่เป็นภาพและวิดีโอ มากกว่าการฟังและจดเลกเชอร์
อย่างไรก็ตาม นอกจากเทคโนโลยีที่ได้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังต้องการพัฒนาด้านไอทีอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบไวไฟ ระบบคลาวด์คอมพิวติ้งทั้งแบบสาธารณะและส่วนบุคคลสู่รูปแบบไฮบริดคลาวด์ รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลต่างๆ เพื่อรองรับการใช้งานอย่างครอบคลุมจากทั้งผู้เผยแพร่หรือผู้รับข้อมูล เพื่อเป็นการติดอาวุธให้บุคลากรภายในสถาบันด้วยเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็ยังมีการฝึกอบรมในด้านต่างๆ ให้แก่ระดับบุคลากรและนักศึกษาด้วย
"จากการดำเนินงานด้านไอทีที่ผ่านมาถือว่ามหาวิทยาลัยฯ ประสบความสำเร็จในเฟสแรกแล้ว จากการลงทุนกว่า 100 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถพัฒนาเฟสต่อไปภายในปี 2559-2563 เช่น การขยายระบบไวไฟ การให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยข้อมูลและการป้องกันการโจมตีทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงการพัฒนาระบบคลาวด์ในรูปแบบไฮบริด ด้วยงบประมาณการลงทุนที่ใกล้เคียงจากเดิม เพื่อดึงศักยภาพการใช้ไอทีกับการศึกษา ทำให้ผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการสอนหรือออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ได้ตรงกับพฤติกรรมของนักศึกษาและรูปแบบการเรียนยุคใหม่"
สำหรับการใช้ระบบไอทีด้านต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ CMU Wifi จากความร่วมมือกับผู้ให้บริการชั้นนำ อาทิ เอไอเอส ดีแทค ทรู และทีโอที, BI (Business Intelligence) ระบบสนับสนุนระบบสารสนเทศสำหรับผู้บริหาร, Smart Learning & Smart Classroom ห้องเรียนอนาคตที่ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทันสมัยในการเรียนการสอน, ศูนย์สอบด้านไอทีด้วยระบบการสอนออนไลน์ตามมาตรฐานสากล, IT for English ให้บริการสื่อการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศที่ทันสมัยเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน, ITSC Corner ศูนย์คอมพิวเตอร์กลางของมหาวิทยาลัย, CMU Mobile Application แอพพลิเคชั่นที่รวบรวมบริการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยไว้บนมือถือ, ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์และออโตเดสก์ ภายใต้ความร่วมมือกับทั้ง 2 บริษัท เพื่อให้บริการซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
...