สวทช.และซิป้า มอบโล่แสดงความยินดีแก่ 20 บริษัทซอฟต์แวร์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล CMMI จากโครงการพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐาน CMMI ประจำปี 56-57 เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยก้าวสู่การยอมรับในระดับสากล...สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(SIPA) จัดงานมอบโล่แสดงความยินดีแก่ 20 บริษัทซอฟต์แวร์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล CMMI จาก ‘โครงการพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐาน CMMI’ ประจำปี 2556 และ 2557 ที่ สวทช. (โดยซอฟต์แวร์พาร์คและ iTAP) ร่วมกับ SIPA ดำเนินการขึ้น เพื่อเสริมความเข้มแข็งทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ทำงานได้อย่างมีระบบมาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมยกระดับภาพลักษณ์สินค้าและอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยก้าวสู่การยอมรับในระดับสากล
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สวทช. กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) และฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (iTAP) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (SIPA) เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ จึงร่วมมือกันผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มก่อตั้งโครงการ SPI@ease ขึ้นในปี พ.ศ. 2550 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โครงการพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐาน CMMI’ ในภายหลัง
ผู้อำนวยการ iTAP กล่าวต่อว่า นับจากวันนั้นโครงการฯ ได้มีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยมีบริษัทซอฟต์แวร์ที่สามารถพัฒนากระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามมาตรฐาน CMMI (Capability Maturity Model Integration) และผ่านการประเมินในระดับต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ และช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวตามความต้องการของตลาดต่างประเทศได้ทัน เสริมความเข้มแข็งทางธุรกิจ เนื่องจากบริษัทในประเทศคู่ค้าหลายแห่งกำหนดว่าบริษัทที่จะเข้าร่วมประมูลงานพัฒนาซอฟต์แวร์ได้จะต้องมีมาตรฐานการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ยอมรับในระดับสากล โดยหนึ่งในมาตรฐานนั้นคือ CMMI ทั้งนี้ มาตรฐาน CMMI ดังกล่าวไม่เพียงช่วยให้ผู้ประกอบการไทยทำงานได้อย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับภาพลักษณ์สินค้าและอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้ก้าวขึ้นไปสู่การยอมรับในระดับสากลด้วย
...
ด้าน นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ ซิป้า กล่าวว่า ซิป้าเล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ได้ระดับมาตรฐานสากล จึงได้ผลักดันให้มีโครงการ SPI@ease โดยร่วมมือกับ สวทช. ในการส่งเสริมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยให้ได้มาตรฐาน CMMI อันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติจนถึงปัจจุบัน ทั้งสองหน่วยงานได้ผลักดันให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยได้รับมาตรฐานดังกล่าวแล้วกว่า 70 บริษัทในระดับต่างๆ หรือถือว่าเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนและเป็นอันดับที่ 15 ของโลก การได้รับมาตรฐานดังกล่าวไม่เพียงแต่ไทยจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่ยังทำให้งานพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยมีคุณภาพ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับซอฟต์แวร์ไทยมากขึ้นอีกด้วย
ส่วน นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าวว่า สำหรับงานครั้งนี้ เป็นการจัดงานเพื่อมอบโล่แสดงความยินดีแก่บริษัทซอฟต์แวร์ไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน CMMI จำนวน 20 บริษัท ซึ่งทุกรายเป็นบริษัทที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐาน CMMI ในช่วงปี พ.ศ. 2556 และ 2557 โดยที่ผ่านมาโครงการฯ สามารถผลักดันให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยได้รับการรับรอง CMMI แล้วสูงถึง 70 ราย จากจำนวนบริษัททั้งสิ้นในประเทศไทยที่ได้รับการรับรอง 113 ราย
ผอ.ซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของบริษัทซอฟต์แวร์ไทยดังกล่าว เป็นผลจากการดำเนินงานของโครงการฯ ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ยกระดับกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ให้มีคุณภาพด้วยการทำงานที่มีกระบวนการตามมาตรฐาน CMMI อันเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพ ลดความเสี่ยงด้านการบริหารบุคลากร โดยทำงานร่วมกันเป็นทีมและสามารถเปลี่ยนถ่ายงานภายในทีมงานได้ง่าย ทำให้สามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้ครบถ้วนตรงตามกำหนดเวลา ภายใต้งบประมาณที่กำหนด
"ขณะนี้ ไทยเป็นประเทศที่มีบริษัทซอฟต์แวร์ผ่านการรับรองมาตรฐาน CMMI สูงเป็นลำดับที่ 15 ของโลก และครองอันดับที่ 1 ของภูมิภาคอาเซียนต่อเนื่องกัน 4 ปีซ้อน ปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์ ตลอดจนเป็นความภาคภูมิใจ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเป็นที่ยอมรับ และแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2558 ที่จะมีการเปิดตลาดการค้าเสรีในภูมิภาคอาเซียน หรือ AEC ความสำเร็จในครั้งนี้ของเรา จะเป็นการตอกย้ำความมั่นใจว่า ไทยจะพร้อมเป็นอีกหนึ่งประเทศที่สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดสากลในระดับเท่าเทียมกับนานาประเทศได้" นายเฉลิมพล กล่าว.
...