เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้รับเชิญจาก IBM ประเทศไทย ไปร่วมงานสัมมนา IBM Connect 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์

งานสัมมนานี้เป็นงานที่ IBM เชิญผู้บริหารระดับสูงขององค์กรลูกค้าทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปร่วมรับฟังทิศทางของบริษัทว่าจะมุ่งไปทางไหน มีผลิตภัณฑ์ใหม่อะไรบ้าง ซึ่ง IBM ก็ขนสินค้าและบริการมาโชว์เต็มที่ ผมไปในฐานะสื่อก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของ IBM ที่น่าสนใจและควรค่าแก่การนำมาเล่าผ่านคอลัมน์แห่งนี้

แบรนด์ IBM ผูกพันกับการขายระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่มานาน แต่ทุกวันนี้ IBM แทบไม่มีธุรกิจการขายฮาร์ดแวร์เหลืออยู่มากนัก ตั้งแต่ขายธุรกิจพีซีให้เลอโนโวเมื่อหลายปีก่อน และเมื่อเร็วๆ นี้ก็ขายธุรกิจเซิร์ฟเวอร์ (บางส่วน) ให้เลอโนโวอีกรอบ

คำถามคือ IBM ไม่ได้ขายฮาร์ดแวร์เซิร์ฟเวอร์แล้วขายอะไร?

คำตอบคือ IBM ยังอยู่กับการขายระบบคอมพิวเตอร์เหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ได้จำกัดแค่ฮาร์ดแวร์เพียงอย่างเดียว

เอาเข้าจริงแล้ว IBM ยังมีฮาร์ดแวร์เมนเฟรมขนาดใหญ่ และผลิตภัณฑ์ด้านสตอเรจเก็บข้อมูลสำหรับลูกค้าองค์กร แต่บริษัทก็มีซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรจำนวนมาก รวมถึงขายบริการด้านพัฒนาระบบให้กับหน่วยงานทั่วโลก

Ginni Rometty ซีอีโอหญิงของ IBM เพิ่งแถลงทิศทางของบริษัทเมื่อต้นปีว่า IBM จะโฟกัสที่ธุรกิจ 3 อย่างสำคัญคือ คลาวด์ โมบายล์ และการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics)

ส่วนของคลาวด์นั้นเป็นภาพรวมของสาธารณูปโภค (infrastructure) ด้านไอทีขององค์กรยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะมีเซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ภายในหรือภายนอกองค์กร สุดท้ายแล้วในภาพใหญ่ เซิร์ฟเวอร์เหล่านี้จะถูกมองเป็นคลาวด์ที่เชื่อมต่อกันหมด ซึ่ง IBM ก็มีทั้งสินค้าที่เป็นฮาร์ดแวร์เซิร์ฟเวอร์ และซอฟต์แวร์สร้างระบบคลาวด์อีกหลายตัว

ฝั่งของโมบายล์ถือเป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับองค์กรยุคใหม่ เรื่องนี้ IBM ฉลาดตรงที่รีบไปจับมือกับแอปเปิล นำอุปกรณ์พกพาตระกูล iOS ของแอปเปิลมาผนวกกับซอฟต์แวร์ของ IBM เพื่อให้ใช้งานกับลูกค้าองค์กรได้ดีขึ้น ข้อตกลงนี้ย่อมทำให้คู่แข่งของทั้ง IBM และแอปเปิลลำบากมากขึ้นในการเจาะตลาดโมบายล์องค์กร

...

สุดท้ายเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล อันนี้ IBM จริงจังมาก เพราะเมื่อระบบคอมพิวเตอร์ทุกอย่างพร้อม มีข้อมูลจำนวนมหาศาล ทิศทางขั้นต่อไปจึงเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์

พระเอกของ IBM ตอนนี้คือซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ Watson (ตั้งชื่อตาม Thomas J. Watson อดีตซีอีโอผู้วางรากฐานให้บริษัท) ที่ฉลาดเป็นกรด มีปัญญาวิเคราะห์ข้อมูลได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น

IBM วิจัยด้านซุปเปอร์คอมพิวเตอร์มานาน เดิมทีเทคโนโลยีเหล่านี้เคยใช้เฉพาะวงการวิจัยเท่านั้น แต่เมื่อ IBM หันมาขายบริการ Watson ในเชิงพาณิชย์ ก็เริ่มมีธุรกิจหลายแห่งที่นำ Watson ไปใช้งานวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลในองค์กรของตัวเอง ซึ่งอุตสาหกรรมที่ IBM ตั้งใจเจาะเป็นพิเศษคือสาธารณสุขและการเงิน ที่มีข้อมูลเฉพาะทางซับซ้อนสูง หนึ่งในลูกค้ารายสำคัญของ IBM คือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่นำ Watson ไปช่วยวิเคราะห์ข้อมูลโรคมะเร็งด้วย

สิ่งที่ผมเห็นในงานคือ IBM จริงจังเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลมาก และพยายามจับมือกับองค์กรหลายแห่งเพื่อเข้าไปช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้ ตัวอย่างความร่วมมือที่น่าสนใจคือ Twitter ที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาลจากผู้ใช้ของตัวเอง ก็จับมือกับ IBM เพื่อนำระบบของ IBM ไปวิเคราะห์ข้อมูลทวีตแล้ว

นอกจาก Twitter แล้ว IBM ยังมีความร่วมมือกับ Weather Company เพื่อเข้าไปวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ และความร่วมมือกับ TED เพื่อนำระบบของ IBM ไปดึงความรู้ของวิทยากรชื่อดังที่เคยมาบรรยายกับ TED Talk เพื่อสร้างฐานข้อมูลความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องอีกด้วย

ในภาพรวมแล้ว IBM ยุคใหม่จึงเน้นระบบคอมพิวเตอร์แบบใหม่ๆ ทั้งคลาวด์และโมบายล์ และหันมาโฟกัสที่การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็นก้าวต่อไปของวงการไอทีในการดึงพลังของข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์นั่นเอง