ที่มาภาพ - Facebook / Adobe Flash

เทคโนโลยี Adobe Flash เป็นเทคโนโลยีที่นักท่องเว็บน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่มีวิดีโอหรือเกมให้เล่นจากหน้าเว็บโดยตรง

Flash เป็นเทคโนโลยีที่มีอายุ 20 ปีพอดีในปีนี้ มันถือกำเนิดขึ้นในปี 1995 โดยบริษัทชื่อ FutureWave จากนั้นเปลี่ยนมือมาเป็นของบริษัทกราฟิก Macromedia และกลายมาเป็นของ Adobe ในท้ายที่สุด

แนวคิดของ Flash ถูกออกแบบขึ้นในสมัยที่เว็บยังมีข้อจำกัดอยู่มาก สามารถแสดงได้เฉพาะข้อความและรูปภาพเท่านั้น ไม่มีเสียงประกอบ วิดีโอ และแอนิเมชันใดๆ ดังนั้นคนที่อยากได้ความสามารถด้านมัลติมีเดียบนเว็บ จำเป็นต้องติดตั้ง “ปลั๊กอิน” เพิ่มเติมจากเบราว์เซอร์ปกติ เพื่อให้สามารถเล่นไฟล์แบบ Flash ที่มีความสามารถเหนือกว่าเว็บได้

Flash ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะเรื่องเกมบนเว็บและวิดีโอออนไลน์ ถ้ายังจำกันได้ เมื่อหลายปีก่อน คนไทยฮิตเล่นเกมปลูกผัก FarmVille บน Facebook ซึ่งเขียนด้วย Flash ทั้งหมด ส่วนของวิดีโอออนไลน์ เว็บไซต์ยอดฮิตอย่าง YouTube ก็ใช้ Flash เป็นตัวเล่นวิดีโอมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สรรพสิ่งไม่เที่ยง มีขาขึ้นก็ต้องมีขาลง เมื่อเว็บเริ่มพัฒนาขึ้นในช่วงหลัง เทคโนโลยีเว็บที่เราเรียกรวมๆ ว่า HTML5 สามารถเล่นไฟล์วิดีโอหรือสร้างเกมแบบเดียวกับที่ Flash เคยทำได้มาก่อน เหตุผลที่ต้องใช้ Flash จึงลดลงไปมาก

Flash มีคุณประโยชน์มากมาย แต่ก็มีจุดอ่อนหลายประการ

อย่างแรกคือ Flash กินทรัพยากรมาก โดยเฉพาะถ้าโปรแกรมเมอร์เขียนไม่ดีหรือขาดประสบการณ์ เว็บที่มีเนื้อหาแบบ Flash จะกินทรัพยากรของคอมพิวเตอร์มหาศาล จนทำให้คอมพิวเตอร์ค้างและเปลืองแบตเตอรี่โดยไม่จำเป็น

...

อย่างที่สอง ตัวเล่น Flash อยู่ในรูปปลั๊กอินที่ติดตั้งเพิ่มเติมจากเบราว์เซอร์ ถือเป็นโปรแกรมอีกตัวที่อยู่บนคอมพิวเตอร์ของเรา แต่ช่วงหลัง Flash กลับมีปัญหาเรื่องช่องโหว่ความปลอดภัยอยู่บ่อยครั้ง จนเป็นช่องโหว่สำคัญที่อาจส่งผลให้คอมพิวเตอร์โดนแฮกได้

เมื่อเทคโนโลยีเว็บพัฒนาขึ้นจนทดแทน Flash ได้เกือบหมด และ Flash ก็มีปัญหาของตัวเองหลายอย่างที่แก้ไม่หายสักที ทำให้ระยะหลังเราเริ่มเห็นบริษัทและหน่วยงานหลายแห่งเริ่มปฏิบัติการ “ละทิ้ง Flash” กันอย่างจริงจัง

บุคคลแรกที่ออกมาปฏิเสธ Flash คือ สตีฟ จ็อบส์ เมื่อครั้งที่ออก iPhone ใหม่ๆ เขาปฏิเสธไม่ให้ Adobe พัฒนา Flash บน iPhone ด้วยเหตุผลว่ามันสิ้นเปลืองทรัพยากร เปลืองแบตเตอรี่ เพราะการเปิดเว็บบนอุปกรณ์พกพาจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องแบตเตอรี่เป็นหลัก ต่างจากการใช้พีซีที่เสียบไฟแทบตลอดเวลา

ความนิยมของอุปกรณ์พกพา สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เริ่มเบียดบังการใช้งานพีซีแบบในอดีต อุปกรณ์พวกนี้ส่วนใหญ่เปิด Flash ไม่ได้ (Android ยุคแรกๆ เคยทำได้แต่สุดท้ายเลิกไป) ทำให้เว็บไซต์หลายแห่งต้องปรับตัว เลิกใช้ Flash ทำเนื้อหาในเว็บ เพราะไม่อย่างนั้นเวลาเข้าเว็บด้วยอุปกรณ์พกพา ก็จะไม่เห็นเนื้อหาส่วนนี้ เสียโอกาสธุรกิจไปเปล่าๆ

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเร็วๆ นี้เราเพิ่งเห็น YouTube และเว็บไซต์วิดีโอออนไลน์หลายแห่งเริ่มเปลี่ยนตัวเล่นวิดีโอจาก Flash เป็น HTML5 ทั้งหมด 100%

ปี 2015 เป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงกับ Flash เยอะพอสมควร เมื่อตอนกลางปีมีคนค้นพบช่องโหว่สำคัญของ Flash ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่บริษัท Adobe กลับไม่สามารถอุดช่องโหว่ความปลอดภัยนี้ได้เร็วพอ ทำให้เว็บเบราว์เซอร์อย่าง Firefox ตัดสินใจป้องกันผู้ใช้งาน โดยบล็อกการทำงานของ Flash ทั้งหมดจนกว่าจะได้อัพเดตจาก Adobe ซึ่งกินเวลาหลายวัน

ต่อมา Amazon ยักษ์ใหญ่วงการอีคอมเมิร์ซที่มีธุรกิจโฆษณาออนไลน์ด้วย ประกาศข้อมูลว่าจะไม่รับโฆษณาแบบ Flash อีกแล้ว เพราะเคยมีกรณีแฮกเกอร์สร้างโฆษณา Flash ที่ฝังมัลแวร์ แล้วกระจายผ่านระบบโฆษณาบนเว็บ จนแฮกคอมพิวเตอร์ได้จำนวนมาก ทาง Amazon จึงขอรับเฉพาะโฆษณาแบบรูปภาพหรือ HTML5 เท่านั้น

ล่าสุด Chrome ประกาศว่าจะไม่เล่นโฆษณาที่เป็น Flash อัตโนมัติอย่างที่เคยทำ ด้วยเหตุผลว่าต้องการประหยัดทรัพยากรของระบบ ดังนั้นเอเยนซี่โฆษณารายใดยังยึดติดกับการทำโฆษณาด้วย Flash ย่อมได้รับผลกระทบว่าจะมีคนเห็นโฆษณาน้อยลง เนื่องจาก Chrome จะปิดโฆษณาดังกล่าวตามนโยบายนี้

ในภาพรวมแล้ว Flash เป็นเทคโนโลยีที่กำลังจะตายในอีกไม่ช้า ทางออกของบรรดาผู้สร้างเว็บและเนื้อหาออนไลน์ทั้งหลาย จึงต้องเป็นการปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีอื่นทดแทน ก่อนจะสายเกินไปจนเทคโนโลยีตกยุค พลอยสูญเสียลูกค้าไปด้วยครับ