สพธอ. ร่วมกับ กระทรวงไอซีที เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้เน็ตปี 58 พบคนกลุ่มเจนวาย อายุ 15-34 ปี เป็นช่วงที่นิยมใช้เน็ตสูงสุด ถึง 54.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์...
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. (ETDA) ร่วมกับ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2558 โดยนายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ดิจิตอลอีโคโนมีซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลและประเทศ เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนในเมืองที่ใกล้ชิดกับเทคโนโลยีและผู้ที่ห่างไกล นอกจากการลดช่องว่างดังกล่าวด้วยเทคโนโลยี ระหว่างหน่วยงานภาครัฐก็จำเป็นต้องบูรณาการข้อมูลเพื่อให้ทุกภาคส่วนและประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
ทั้งนี้ คณะกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติได้กำหนดเป้าหมายที่จะวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกให้เข้าถึงทุกหมู่บ้านภายในปี 2559 และเข้าถึงทุกบ้านภายในปี 2560 รวมถึงสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้มีศักยภาพในการใช้ระบบออนไลน์ทำธุรกิจได้มากยิ่งขึ้นบนมาตรฐานข้อมูลและระบบบริการด้วยดิจิตอล อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลสำรวจในครั้งนี้จะทำให้เห็นถึงรูปแบบการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สามารถผลักดันและส่งเสริมการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สพธอ. กล่าวว่า สพธอ.ได้จัดทำแบบสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยทุกปีโดยปีนี้เป็นครั้งที่ 3 สะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตจากประชาชนทุกเพศและกลุ่มอายุ เพื่อใช้ข้อมูลในการกำหนดแนวทางการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการทำธุรกรรมออนไลน์ของประเทศอย่างแท้จริง
...
สำหรับการสำรวจในปีนี้ มาจากการตอบแบบสำรวจในทั่วประเทศ 10,434 คน ซึ่งจำแนกช่วงอายุออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มเจนเอ็กซ์ (Gen X) ผู้ที่มีอายุระหว่าง 35-50 ปี, กลุ่มเจนวาย (Gen Y) อายุ 15-34 ปี, กลุ่มเจนแซท (Gen Z) อายุน้อยกว่า 15 ปี และกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) อายุ 51-69 ปี ซึ่งพบว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยในทุกช่วงของระยะเวลาการใช้งานนั้นสูงขึ้นกว่าปี 2557 และกลุ่มเจนวายเป็นช่วงอายุที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงที่สุด ถึง 54.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ทั้งนี้ พบว่าสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมเพื่อใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสูงสุด ด้วยสัดส่วนกว่า 81.8% ขณะที่คอมพิวเตอร์เดสก์ทอปอยู่ที่ 54.5% โดยกิจกรรมที่ผู้ใช้นิยมทำเมื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต คือ 1.การใช้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์ เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วนกว่า 82.7% 2.สืบค้นข้อมูล 56.6% 3.ใช้ติดตามข่าวสาร หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ 52.2% ส่วนโซเชียลที่ได้รับความนิยมสูงสุดของคนไทย คือ เฟซบุ๊ก 92.1%, ไลน์ 85.1%, กูเกิล พลัส 67%, อินสตาแกรม 43.9%, ทวิตเตอร์ 21%, วอสแอพ 2.8%
นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ โดยพบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ การนำเสนอข้อมูลของสินค้าของเว็บไซต์ 51.2%, ความชัดเจนและความน่าสนใจของภาพผลิตภัณฑ์ 50.5% , สินค้าหรือบริการถูกกว่าร้านค้าปกติ 46.4%, ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และความสะดวกในการสั่งซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง 46.1%, โปรโมชั่น 41.6% โดยสินค้าหรือบริการที่ได้รับความนิยมซื้อผ่านออนไลน์สูงสุด คือ สินค้าแฟชั่น อาทิ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ 42.6%, อุปกรณ์ไอที เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ 27.5%, สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม 24.4%
อย่างไรก็ตาม พบว่าคนไทยยังไม่มั่นใจการซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ จาก 3 สาเหตุ ได้แก่ 1.ได้รับสินค้าช้ากว่ากำหนด 58.7%, ได้รับสินค้าไม่ตรงตามในเว็บไซต์ 29.9%, สินค้าเกิดความชำรุดเสียหาย 24.0% ส่วนแนวทางที่ผู้ซื้อนิยมใช้แก้ปัญหาดังกล่าว คือ การร้องเรียนผ่านเว็บไซต์นั้นๆ 79.7%, ร้องเรียนผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ 25.7%, ช่องทางอื่นๆ อาทิ คอลเซ็นเตอร์ หรือติดต่อกับผู้ขายโดยตรงเพื่อขอเปลี่ยนหรือคืนสินค้า 8.2%, การร้องเรียนผ่านภาครัฐมีเพียง 3.6% เท่านั้น ซึ่ง สพธอ.ได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการซื้อขายสินค้าออนไลน์ (Online Complaint Center) หรือ OCC เพื่อให้คำปรึกษาปัญหาข้อร้องเรียนในเบื้องต้น และประสานเรื่องหรือส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) องค์การอาหารและยา (อย.) หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการทำธุรกรรมออนไลน์ ผ่านเลขหมาย 0-2123-1223 อีกด้วย.