เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมมีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาด้านเทคโนโลยี Rise Conference 2015 ที่ฮ่องกง เลยนำเนื้อหาจากงานสัมมนาครั้งนี้มาฝากกันครับ

งาน Rise จัดโดยทีมงานเดียวกับงาน Web Summit ซึ่งเป็นงานสัมมนาใหญ่ของฝั่งยุโรป จัดที่ประเทศไอร์แลนด์เป็นประจำทุกปี ปีนี้เป็นปีแรกที่ขยายมายังฝั่งเอเชียด้วย โดยใช้ชื่องานว่า Rise
งาน Rise เชิญผู้ยิ่งใหญ่ของวงการไอทีและสตาร์ตอัพมาจากทั้งฝั่งโลกตะวันตกและเอเชีย มีตั้งแต่ผู้บริหารระดับซีอีโอของ LINE, ประธานบริษัท SoftBank จากญี่ปุ่น, ซีอีโอของบริษัทมือถือดาวรุ่งทั้ง Cyanogen และ OnePlus, ผู้ก่อตั้งบริษัทจ่ายเงินออนไลน์ที่กำลังร้อนแรง Stripe, รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของ Google/Facebook และนักลงทุนรายใหญ่อีกคับคั่ง

ธีมงานหลักของ Rise คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ขาขึ้น” ของวงการเทคโนโลยีฝั่งเอเชีย จุดที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากคือมุมมองของบริษัทไอทีฝั่งเอเชีย ที่มองว่าตัวเองไม่ได้เป็นบริษัทเทคโนโลยี 100% เหมือนบริษัทจากโลกตะวันตก ที่เน้นเทคโนโลยีไฮเทค ทำงานออนไลน์ทั้งหมด แต่บริษัทฝั่งเอเชียมองว่าตัวเองทำหน้าที่เชื่อมธุรกิจในโลกออฟไลน์เดิมเข้ากับโลกออนไลน์ต่างหาก เราจึงเห็นทิศทางของบริษัทไอทีฝั่งเอเชียรุ่นใหม่ๆ ที่เน้นธุรกิจการเชื่อมต่อกับโลกออฟไลน์มากขึ้น ตั้งแต่ Didi Kuaidi บริษัทเรียกรถแท็กซี่รายใหญ่ของจีนที่เป็นคู่แข่งกับ Uber, ทิศทางของ LINE หรือ WeChat ที่พยายามนำอีคอมเมิร์ซมาใส่ไว้ในแอพแชตเพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม ไปจนถึงบริษัท Alibaba หรือ Baidu ยักษ์ใหญ่ของเมืองจีนที่หันมาลุยตลาดออฟไลน์กันหนักมากในช่วงหลัง

...

ในอีกทาง เอเชียยังมีบริษัทหน้าใหม่อีกหลายราย ที่เป็นเลิศด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจมาพลิกโลกได้ในไม่ช้า บริษัทเครื่องบินไร้คนขับ (โดรน) รายใหญ่ที่สุดในโลกก่อตั้งโดยคนฮ่องกง มีสำนักงานใหญ่ที่เซินเจิ้น ในขณะเดียวกันก็มีบริษัทหน้าใหม่จากสิงคโปร์ ไต้หวัน จีน อีกหลายรายที่เร่งพัฒนาสินค้าไอทีแบบสวมใส่ ที่ดูแล้วมีศักยภาพไม่แพ้โลกตะวันตกเลย อีกไม่นานบริษัทเหล่านี้คงต้องเริ่มกระจายตัวออกมานอกจีน และสำแดงฤทธิ์เดชให้โลกเห็นกัน

สิ่งที่ผมประทับใจคือคำกล่าวของ Neil Shen ผู้ก่อตั้งกองทุน Sequoia China ที่บอกว่าปัจจัยความสำเร็จของสตาร์ตอัพจีนมีด้วยกัน 3 อย่าง ได้แก่ ขนาดตลาดที่ใหญ่มาก, ทรัพยากรมนุษย์สายไอทีที่มีแรงงานฝีมือจำนวนมาก และสุดท้ายคือจีนสามารถสร้าง “ผู้ประกอบการ” รุ่นใหม่มาสร้างธุรกิจพลิกโลกได้เป็นจำนวนมาก

ประเด็นเรื่องแรงงานฝีมือด้านไอทีเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะจีนมีวิศวกรคอมพิวเตอร์จำนวนมากทำงานอยู่ในโลกตะวันตก แฝงตัวอยู่ในบริษัทไอทีชื่อดังมากมาย คนเหล่านี้มีทักษะฝีมืออยู่ในระดับท็อปของโลก และเมื่อกระแสสตาร์ตอัพจีนบูม ธุรกิจไอทีจีนกำลังร้อนแรง คนเหล่านี้จึงย้ายกลับมาทำงานในเมืองจีน และกลายเป็นแกนหลักในการผลักดันวงการไอทีจีนต่อไป

อุตสาหกรรมไอทีไทยมีปัญหาเรื่องขาดแคลนทักษะแรงงานอย่างมากในช่วงหลัง ถึงแม้เรามีนักศึกษาสำเร็จการเรียนหลักสูตรด้านคอมพิวเตอร์จำนวนมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่านักศึกษาจำนวนไม่น้อย “มือไม่ถึง” ยังขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน ผลลัพธ์คือแรงงานด้านไอทีขาดแคลนจนต้องซื้อตัวแย่งตัวกันอุตลุด และสุดท้ายจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้วงการไอทีไทยไม่สามารถก้าวไปไกลกว่านี้ได้เพราะขาดคนนั่นเองครับ.