สพธอ. (ETDA) ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ Green e-Commerce สนับสนุนผู้ประกอบการโอทอปและเอสเอ็มอี ขยายช่องทางจำหน่ายเข้าออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ…
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. (ETDA) เปิดเผยว่า สพธอ. ยังคงเดินหน้าผลักดันธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย โดยล่าสุดได้เปิดโครงการกรีน อี-คอมเมิร์ซ (Green e-Commerce) บ่มเพาะผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซไทยสู่เศรษฐกิจดิจิตอลที่มั่นคงปลอดภัย โดยในช่วงแรกจะนำร่องเสริมทักษะความรู้แก่ผู้ประกอบการ 400 ราย พร้อมทั้งติวเข้มเทคนิคและเครื่องมือการตลาดออนไลน์ตลอดระยะ 2 เดือน ซึ่งใช้งบประมาณราว 20 ล้านบาท
"เราตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการเป็น 10,000 ราย ภายในปี 2559 และแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีความพร้อมในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังจัดเป็นกลุ่มประเทศในระดับกลางเท่านั้น แต่เชื่อว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมมากขึ้นภายใน 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากมีเทคโนโลยี 4จี รวมถึงการพัฒนาของระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการจัดส่งสินค้า"
...
สำหรับโครงการกรีน อี-คอมเมิร์ซ เป็นการนำร่องด้วยผู้ประกอบการที่มีร้านค้าออนไลน์ จำนวน 400 ราย ซึ่งคัดเลือกมาจากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการนับ 1,000 ราย ภายใต้คุณสมบัติ อาทิ จดทะเบียนการค้า (บุคคลธรรมดา) หรือจดทะเบียนนิติบุคคล ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จำหน่ายสินค้าถูกต้องตามกฎสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) องค์การยาอาหารและยา (อย.) และผ่านการตรวจสอบตัวตนทางธุรกิจจากเจ้าหน้าที่ สพธอ.
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะสนับสนุน 3 ส่วน คือ 1.การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อผู้ขายออนไลน์ จากการพัฒนา Thaimarket.com เป็นเว็บ e-Directory เพื่อรวบรวมเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ และสามาถตรวจสอบตัวตนได้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการใช้งาน 2.การเสริมทักษะเพิ่มพูนความรู้ โดยการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงกลุ่มสื่อโฆษณาออนไลน์ พร้อมทั้งสนับสนุนเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านอี-คอมเมิร์ซให้คำปรึกษาตลอดโครงการ และ 3.การปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ เพื่อเป็นศูนย์กลางรับปัญหาจากการทำธุรกรรมออนไลน์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยนำร่องกับร้านค้าภายใต้ Thaimarket.com และขยายการให้บริการในอนาคต
ผู้อำนวยการ สพธอ. กล่าวอีกว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปีประมาณ 10% โดยมูลค่าตลาดปี 2557 อยู่ที่ 768,014 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตราว 3.2% จากปี 2556 คาดว่าภายใน 2-3 ปีจากนี้ ตลาดดังกล่าวจะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 25% จากการเติบโตของการใช้งานมือถือและอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการผลักดันสินค้ากลุ่มโอทอป (Otop) ให้เข้าสู่ตลาดอี-คอมเมิร์ซ ขณะเดียวกัน ควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและพัฒนาคุณภาพผู้ประกอบการไปพร้อมกัน ทั้งความรู้ความเข้าใจในการขายสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการรับประกันสินค้าเพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า ซึ่งยังคงเป็นปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการไทยในปัจจุบัน รวมถึงความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า และระบบตรวจสอบสถานะการจัดส่งที่มีมาตรฐานด้วย
นายรัฐศาสตร์ กรสูต ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ETDA กล่าวว่า จากข้อมูลกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ระบุว่ามีผู้ประกอบการโอทอปกว่า 36,092 ราย ซึ่งมีสินค้ารวม 71,739 ผลิตภัณฑ์ หากสามารถผลักดันผู้ประกอบการดังกล่าวเข้าสู่โครงการกรีน อี-คอมเมิร์ซได้ ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซได้อีกเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่ายอดขายให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้ไม่ต่ำกว่า 15% อีกด้วย
นางทรงพร โกมลสุรเดช รักษาการ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า การส่งเสริมธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ในประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งาน โดยเฉพาะความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการชำระเงิน รวมถึงทำความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการให้มีความซื่อสัตย์ต่อการค้า เพื่อส่งเสริมการใช้อี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโต.