คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายยื่นทบทวนร่างฯ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ชี้ขัดกฎหมาย หวั่นจำกัดสิทธิเสรีภาพ...

วันที่ 17 ธ.ค. 56 นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก. เรื่อง ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... เสนอต่อประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประธานวุฒิสภา ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะว่า ให้พิจารณาทบทวนการจัดทำร่างประกาศฯ เนื่องจากการออกประกาศดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยบทบัญญัติในมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ซึ่งกำหนดกรอบเนื้อหาของรายการที่ห้ามมิให้ออกอากาศ ไม่ได้กำหนดให้อำนาจ กสทช. กำหนดรายละเอียด หรือกรอบของรายการที่ห้ามไม่ให้ออกอากาศไว้ ซึ่งผิดกับมาตราอื่นๆ ที่มีบทบัญญัติให้ กสทช. กำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติไว้ชัดเจน

ทั้งนี้ ร่างประกาศฯ อ้างบทบัญญัติตามมาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ เป็นกรอบในการวางหลักเกณฑ์และแนวทางการกำกับดูแลเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 37 มีลักษณะเป็นกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางประการของบุคคลที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ดังนั้น ในการตีความกฎหมายดังกล่าวจะต้องตีความอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของบทบัญญัติ และเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ไม่ให้รัฐ หรือหน่วยงานในองค์กรของรัฐ ใช้อำนาจในการออกกฎหมายที่จะเป็นการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

คปก.ได้พิจารณามาตรา 37 เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเพียงแต่กำหนดประเภทเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 45 บัญญัติไว้ โดยไม่ได้บัญญัติให้อำนาจ กสทช.ในการออกประกาศใดเพิ่มเติม ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติในมาตราอื่นๆ ในพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงฯ เช่น มาตรา 33 มาตรา 34 จะมีข้อความระบุว่า “ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด” ดังนั้น จะเห็นได้ว่า มาตรา 37 ของพระราชบัญญัตินี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการให้อำนาจ กสทช. ออกหลักเกณฑ์ใดเพิ่มเติม อีกทั้งการกำหนดเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามความในมาตรา 37 ครบถ้วนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว กสทช. จึงไม่มีอำนาจในการออกร่างประกาศฯ

ขณะเดียวกัน การอ้างอำนาจตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ที่กำหนดเป็นการทั่วไปว่า กสทช.สามารถออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.นั้น  คปก.เห็นว่า ยังไม่สอดคล้องกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 37 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน การออกประกาศฯ กำหนดรายละเอียดเนื้อหาสาระที่เป็นองค์ประกอบเกินกว่ากรอบกฎหมายแม่บท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาของร่างประกาศฯ ข้อ 6 ถึงข้อ 11 ได้ขยายความเนื้อหาสาระของรายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศเกินเลยไปกว่ากรอบบทบัญญัติมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ซึ่งได้บัญญัติไว้ในทางเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 45 วรรค การจำกัดเสรีภาพดังกล่าว จะต้องทำด้วยความจำเป็นและจะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างแจ้งชัด กสทช. ซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งทางด้านบริหาร จึงไม่มีอำนาจกำหนดให้เกินเลยไปกว่าบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ และรัฐธรรมนูญได้

นอกจากนี้ คปก.มีความเห็นว่า ถ้อยคำตามร่างประกาศฯ ยังคลุมเครือ ขาดความชัดเจน ทั้งการออกอากาศใดจะขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ หรือไม่ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริง เนื้อหาความเป็นมา เจตนา สภาพแวดล้อมและบริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมเป็นกรณีไป การกำหนดองค์ประกอบความผิดที่ตายตัว อาจทำให้คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ ตีความและบังคับใช้กฎหมายในทางที่เป็นการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนเกินสมควรแก่เหตุ และไม่มีมาตรฐานที่สอดคล้องต้องกัน ก่อให้เกิดการใช้ดุลยพินิจบังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่เป็นการแทรกแซงและจำกัดสิทธิและเสรีภาพประการต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ เกินสมควรแก่กรณี ซึ่งอาจก่อประโยชน์แก่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มการเมือง กลุ่มผู้มีอำนาจ มากกว่าที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ คปก.จึงเสนอให้ทบทวนการจัดทำร่างประกาศฯ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ประกอบอาชีพและวิชาชีพสื่อมวลชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ความเชื่อ และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน.

...