หลังจากเกิด กสทช. ขึ้นมา ประเทศไทยมีเหตุการณ์ “ครั้งแรก” ของวงการโทรคมนาคมเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีเลยนะครับ

ปีที่แล้ว 2555 เราเห็น “การประมูลคลื่นครั้งแรก” นั่นคือการประมูลคลื่นความถี่ 2100MHz (ซึ่งเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย แต่สุดท้ายก็สำเร็จลุล่วงไปได้)

ปีนี้ 2556 ฟันธงได้เลยว่าเราจะเห็นข่าวใหญ่ลักษณะเดียวกัน แต่เป็น “การหมดสัมปทานครั้งแรก” ครับ

ย้อนความเล็กน้อยสำหรับผู้ที่ไม่ได้ตามเรื่อง เดิมทีโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยใช้ระบบ “สัมปทาน” ที่บริษัทเอกชนเช่าคลื่นจากรัฐวิสาหกิจไปใช้งานเชิงพาณิชย์ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นระบบ “ใบอนุญาต” โดยมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่กำกับดูแลอย่าง กสทช. เพิ่มเข้ามา

ตอนนี้เราอยู่ในยุค กสทช. แล้วก็จริง แต่สัมปทานเดิมยังไม่หมดอายุ กฎหมายเลยยกประโยชน์ให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจต่อจนครบอายุสัญญา แล้วค่อยย้ายมาสู่ระบบใบอนุญาตของ กสทช. มันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่คาบเกี่ยวกันอยู่บ้าง

สัมปทานชุดแรกจะหมดอายุในปีนี้ นั่นคือสัมปทานคลื่น 1800MHz ที่บริษัท กสท โทรคมนาคม (การสื่อสารแห่งประเทศไทยในอดีต) ให้สัมปทานแก่ Truemove (หรือ Orange เดิม คนละคลื่นกับ Truemove H) และ GSM1800 ของค่ายเอไอเอสในปัจจุบัน (คนละคลื่นกับ GSM900)

วันสุดท้ายของสัญญาสัมปทานคือ 15 กันยายน 2556

เดิมทีสัญญาสัมปทานเขียนขึ้นในลักษณะให้เอกชนนำคลื่นไปใช้ประโยชน์ แล้วโอนลูกค้าและทรัพย์สินทั้งหมดให้ กสท เมื่อสิ้นสุดสัมปทาน ดังนั้นลูกค้าของ Truemove หรือ GSM1800 ก็สามารถใช้บริการต่อได้ทันที แค่ในเชิงนิตินัยชื่อผู้ให้บริการจะเปลี่ยนจาก Truemove หรือ GSM1800 มาเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม แทน

แต่ก่อนสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดลง เมืองไทยเข้าสู่ระบบ กสทช. เสียก่อน และกฎหมาย กสทช. ระบุว่าเมื่อสัญญาสัมปทานเดิมครบกำหนด ให้นำคลื่นความถี่ส่งกลับไปยัง กสทช. เพื่อจัดสรรใหม่ด้วยวิธีประมูล

นั่นแปลว่าเมื่อสัมปทานสิ้นสุด เสาสัญญาณ อุปกรณ์โครงข่าย และลูกค้าของทั้งสองค่าย จะถูกโอนไปยัง กสท ตามที่ตกลงกันเอาไว้ แต่ “คลื่นความถี่” จะกลับไปที่ กสทช.

เงื่อนไขนี้ทำให้ กสท มีทุกอย่างของ Truemove และ GSM1800 ในปัจจุบัน ยกเว้นคลื่นความถี่ 1800MHz สำหรับให้บริการ

ฝั่งของ กสทช. จะต้องจัดสรรคลื่นความถี่ชุดนี้ด้วยวิธีการ “ประมูล” หมายความว่าผู้ชนะรายใหม่อาจเป็นเอไอเอสและทรูดังเดิมก็ได้ หรือจะเป็นผู้ให้บริการรายอื่นแทนก็ได้ ไม่มีทางบอกได้เลยในตอนนี้ จะรู้ได้แน่นอนก็ต่อเมื่อประมูลเสร็จ

การจัดการประมูลต้องใช้เวลาพอสมควร ตอนนี้เหลือเวลาน้อยกว่า 8 เดือนก่อนหมดอายุสัมปทาน ถ้า กสทช. เร่งกระบวนการจริงๆ อาจจัดประมูลเสร็จทันวันที่ 15 กันยายน แต่โอกาสเสร็จไม่ทันก็มีสูง

ถ้า กสทช. จัดประมูลเสร็จทัน เรื่องก็ง่ายเพราะรู้ว่าใครได้คลื่น 1800MHz ชุดนี้ไป จะโอนย้ายหรือเช่าโครงข่าย-คลื่นกันอย่างไร
แต่ถ้า กสทช. จัดประมูลเสร็จไม่ทัน เรื่องจะเริ่มยุ่งเพราะในทางกฎหมายแล้ว ถ้าเอกชนใช้คลื่น 1800MHz หลังวันที่ 15 กันยายนนี่ “ผิดกฎหมาย” นะครับ เนื่องจากถือว่าคลื่นกลับมาอยูที่ กสทช. แล้ว แต่ยังไม่ได้จัดสรรให้ใคร

กสทช. “อาจ” ต่อใบอนุญาตคลื่นให้ กสท โทรคมนาคม ให้บริการเป็นการชั่วคราวหากประมูลไม่ทัน ถ้าเป็นกรณีนี้ลูกค้าจะยังไม่เจออาการ “จอดำ” หรือ “ซิมดับ” แต่ กสทช. อาจเจอปัญหากฎหมายแทนได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันต่อไปในเชิงวิชาการด้านนิติศาสตร์

คำถามคือ ลูกค้า Truemove ประมาณ 17 ล้านราย และลูกค้า GSM1800 ประมาณ 1 แสนรายจะทำอย่างไรดี?
ผมเองก็เข้าไปช่วย กสทช. ในฐานะอนุกรรมการเรื่องคลื่น 1800MHz นี้ด้วย สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่า กสทช. จะทำอย่างไรกันแน่ และการประมูลจะเสร็จทันหรือไม่ แต่ผมขอให้คำแนะนำเป็นส่วนตัวต่อคุณผู้อ่านเป็นการเบื้องต้นก่อนดังนี้ครับ

•    คุณผู้อ่านที่ไม่มั่นใจสถานการณ์หลังวันที่ 15 กันยายน 2556 และกลัวว่าจะเกิดอาการ “ซิมดับ” สามารถ “ย้ายค่ายเบอร์เดิม” ไปยังเครือข่ายอื่นได้ ส่วนจะย้ายไปค่ายไหนคงแล้วแต่ความชอบส่วนตัว และอย่าลืมว่าเราจะมีบริการ 3G เพิ่มขึ้นอีก 3 ยี่ห้อช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ (จากคลื่น 2100MHz ที่ประมูลไปเมื่อปีที่แล้ว) ช่วงนั้นเราคงเห็นโปรโมชั่นแบบจัดเต็มออกมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด

•    ถ้าสนใจแนวทาง “ย้ายค่ายเบอร์เดิม” ต้องรีบกันหน่อย เพราะความสามารถของระบบย้ายค่ายเบอร์เดิมนั้นค่อนข้างจำกัดเพียงวันละไม่กี่พันเลขหมายเท่านั้น ถ้าย้ายช้าอาจต้องรอคิวกันนาน รีบย้ายตั้งแต่เนิ่นๆ ดีที่สุด

•    ส่วนคุณผู้อ่านที่คิดว่าหลังวันที่ 15 กันยายน 2556 จะไม่มีปัญหาเรื่องคลื่นความถี่ที่ให้บริการ ก็คงไม่ต้องย้ายค่ายก่อน ลูกค้าทั้งหมดจะถูกโอนไปอยู่กับ กสท โทรคมนาคม ในทางนิตินัย ปัญหาคือ กสท ยังไม่เคยบอกว่า “เงินในซิม” (โดยเฉพาะของ Truemove ที่มีลูกค้าแบบพรีเพดเยอะมาก) จะถูกโอนจากค่ายทรูไปยัง กสท หรือไม่ ดังนั้นระหว่างที่รอความชัดเจนในเรื่องนี้ ลูกค้าแบบพรีเพดควรระวังเรื่องการเติมเงิน ไม่เติมมากเกินความจำเป็น เพราะมีความเสี่ยงว่าเติมเงินทิ้งไว้เยอะๆ แล้วอาจโอนไปใช้กับบริการของ กสท ไม่ได้

ผมยังเชื่อมั่นว่าสุดท้ายแล้ว กสทช. จะประกาศมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภคออกมา เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบมีเยอะมาก (แค่ลูกค้า Truemove ก็ 17 ล้านคนแล้ว) แต่ในฐานะผู้บริโภคก็ควรเตรียมความพร้อมในฝั่งของตัวเองเอาไว้ด้วย หาทางหนีทีไล่เผื่อไว้ก่อน และที่สำคัญต้องช่วยกันบอกเพื่อนหรือคนรู้จักที่ใช้ Truemove กับ GSM1800 ให้รับรู้ว่า “สัญญาสัมปทานกำลังจะหมด” เพื่อให้เจ้าตัวมีโอกาสเตรียมความพร้อมไว้เช่นกัน

ถ้าเรื่องนี้มีความคืบหน้า ผมจะรีบนำมาเล่าผ่านคอลัมน์ในไทยรัฐออนไลน์ทันทีเลยครับ

เพิ่มเติมข้อมูลไว้สักเล็กน้อยเผื่อใครสนใจ สัมปทานของค่ายเอไอเอส GSM900 จะหมดในปี 2558 และสัมปทานของดีแทคคลื่น 1800MHZ (แต่คนละลอต) จะหมดปี 2561 ครับ เมื่อถึงเวลานั้นก็คงเกิดสถานการณ์คล้ายๆ กันกับในปีนี้

...

มาร์ค Blognone