Tech War หรือสงครามเทคโนโลยีระหว่างสองยักษ์ใหญ่มหาอำนาจของโลกระหว่างสหรัฐฯกับจีนกำลังเป็นไปด้วยความ เข้มข้น
หลังจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าสู่พิธีการรับตำแหน่งในสมัยที่สองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในวันเดียวกันได้ถูกทางจีนทำพิธีต้อนรับ โดย DeepSeek สตาร์ตอัพด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เปิดตัวโมเดล AI เวอร์ชันล่าสุด Deep Seek-R1 และแอปถูกดาวน์โหลดสูงสุดในแอปสโตร์
แสดงให้เห็นถึงความสนใจของโมเดล AI ใหม่ มีประสิทธิภาพสูงเมื่อเทียบกับ Chat-GPT ของ Open AI คู่แข่งทางสหรัฐฯได้สร้างผลกระทบให้กับทางหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ มูลค่าลดลงมหาศาล กลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ วันจันทร์ทมิฬหรือ Black Monday
โดยหุ้นของเอ็นวิเดีย (Nvidia) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและผลิตชิปกราฟิก โดยเฉพาะการใช้ใน AI ตกลงไปมากกว่า 16.9% มูลค่าหายไปเกือบ 6 แสนล้านดอลลาร์ ภายในวันเดียว รวมถึงได้ฉุดตลาดหุ้นแนสแด็กตกลงเกือบ 3%
แต่กระแสของ DeepSeek ถูกขุดลึกลงเรื่อยๆ ถูกกล่าวหาว่าขโมยข้อมูลการฝึกฝน AI มาต่อยอด ทำให้ลงทุนต่ำ และยังกังขา ว่าสามารถเก็บข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ได้จริงตามที่ให้คำมั่นได้หรือไม่ และหลายๆประเทศเริ่มสั่งให้ถอดถอนแอปออกจากแอปสโตร์ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
เพียงไม่กี่วันต่อมาทางอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ของจีน ได้อาศัยฤกษ์มงคลเทศกาลตรุษจีน 2025 เปิดตัวโมเดล AI ใหม่ล่าสุด ชื่อ Qwen 2.5-Max บริษัทอ้างว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่าโมเดลชั้นนำอย่าง GPT-4 ของ OpenAI และ DeepSeek V3
โมเดลนี้พร้อมให้ผู้พัฒนานำไปใช้งานผ่านบริการคลาวด์ของอาลีบาบา และยังถูกออกแบบให้รองรับรูปแบบ API ของ OpenAI เพื่อให้องค์กรที่ใช้งานเทคโนโลยีคล้ายกันสามารถปรับใช้ได้ง่ายขึ้น
...
อีกทั้งยังเป็นที่สังเกตกันว่าสำนักงานใหญ่ในเมืองหางโจว ซึ่งเป็นเมืองเดียวกับสำนักงานของ DeepSeek
วงการ AI ในจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยความก้าวหน้าที่สำคัญจากสองบริษัทดังกล่าวที่กำลังท้าทายมาตรฐานเดิมๆ และยังมีบริษัทจีนอีกหลายบริษัทที่มีความพร้อม ได้ผลักดันให้ผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น
ย้อนรอย Tech War ได้เริ่มต้นขึ้นจากโครงการ Made in China 2025 ของจีน ที่มุ่งหวังเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นผู้นำ
ด้านเทคโนโลยีหลักและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยี 5G ในระยะ 10 ปี (2015–2025)
สงครามนี้ได้ขยายจากข้อพิพาททางการค้าในปี 2018 โดยรัฐบาลของ “ทรัมป์” สมัยแรกที่เริ่มจากการกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน และเปลี่ยนเป็น Tech War แม้จีนจะตอบโต้ด้วยการพัฒนานโยบายส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง แต่การคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ เช่น การห้ามไม่ให้ “หัวเว่ย” เข้าถึงเทคโนโลยีชิปของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อบริษัทจีนหลายแห่ง รวมถึง “หัวเว่ย” ที่ได้รับผลกระทบหนักในธุรกิจสมาร์ทโฟน
Tech War ของสองยักษ์ใหญ่ยังเดินหน้าไม่สิ้นสุด ล่าสุดการแบนแอปยอดนิยมอย่าง TikTok แต่เมื่อ “ทรัมป์” กลับมาในสมัยที่สองได้ใช้คำสั่งประธานาธิบดีให้ใช้งานในสหรัฐฯ ต่อไปได้ แต่มีความพยายามอย่างต่อเนื่องให้ทางจีนขายกิจการนี้ออกไป
การเกิดขึ้นของโมเดล AI ขั้นสูงจากบริษัทจีนยังได้สร้างคำถามเกี่ยวกับอนาคตของการพัฒนาอุตสาหกรรม AI ระดับโลก เมื่อบริษัทเหล่านี้ยังคงสร้างนวัตกรรมและเสนอทางเลือกที่สามารถแข่งขันได้กับโมเดลจากสหรัฐฯ สิ่งนี้อาจส่งผลต่อสมดุลอำนาจในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และเปลี่ยนวิธีที่บริษัทต่างๆทั่วโลกมองการลงทุนและความร่วมมือด้าน AI ในอนาคต
สงครามที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาเฉพาะสองประเทศ แต่ได้สร้างผลกระทบทั่วโลก เนื่องจากประเทศต่างๆต้องจัดการกับความสัมพันธ์ของตนกับทั้งสองมหาอำนาจ ส่งผลต่อนโยบายการค้าระดับพันธมิตร และมาตรฐานการใช้เทคโนโลยีทั่วโลก.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม