รัฐบาลไทย นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และไมโครซอฟท์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ หวังสร้างโอกาสใหม่ทั้งด้านการจ้างงาน ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืน
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย และสัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมโครซอฟท์ ได้ร่วมพบปะหารือที่เมืองซาน ฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา โดยเป็นการพูดคุยพร้อมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะยกระดับประเทศไทยไปสู่ยุคต่อไปของนวัตกรรมดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence)
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พันธกิจของประเทศไทย นับตั้งแต่ด้านการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนไปจนถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน ถือเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างทั้งความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและศักยภาพเชิงดิจิทัลของประเทศไทยไปพร้อมกัน
ทางด้าน นายอาเหม็ด มาซารี ประธานไมโครซอฟท์ เอเชีย กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทาง และการทำงานของคนทั้งโลก สำหรับประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลไทยได้วางเป้าหมายนำปัญญาประดิษฐ์มาขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนเป็นมูลค่ากว่า 48,000 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยในส่วนไมโครซอฟท์ มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับรัฐบาลไทยเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่มีเอไอเป็นนวัตกรรมคู่คิดของประเทศไทย
การลงนามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ มีหัวข้อสำคัญทั้งสิ้น 4 ด้าน ประกอบไปด้วย
ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัล
...
ไมโครซอฟท์จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายด้านรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud First ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนภาคการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการศึกษา
ในเวลาเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายจะร่วมพิจารณาแผนการลงทุนก่อสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย เพื่อยกระดับการใช้งานคลาวด์และ AI ต่อไปในอนาคต รวมถึงการสนับสนุนรัฐบาลไทยในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยมีบุคลากรของไมโครซอฟท์เข้ามาเสนอแนะแนวทาง
ปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI
ไมโครซอฟท์จะทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาและผสมผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับโครงการด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) และบริการสาธารณะต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่คนไทย รวมถึงการจัดทำโรดแม็ปให้การนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานได้จริง
นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังจะร่วมหารือกับไมโครซอฟท์เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางนโยบายและกรอบการกำกับดูแล เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำ AI มาใช้งานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
เสริมทักษะคนไทยเพื่อชีวิตในยุคหน้า
ไมโครซอฟท์จะสานต่อพันธกิจในการยกระดับทักษะแห่งอนาคตสำหรับคนไทยกว่า 10 ล้านคน ผ่านทางความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและหน่วยงานอื่นๆ โดยครอบคลุมทักษะสำคัญในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่สองเพื่อการสื่อสารหรือความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการฝึกฝนนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ในทุกสายอาชีพ (Citizen Developers) ในรูปแบบที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น
ยกระดับประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
หน่วยงานภาครัฐของไทยจะทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 ผ่านทางการสร้างพื้นที่ทดสอบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Sandbox) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีแผนที่จะนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ในโครงการและแผนการลงทุนในอนาคตอีกด้วย